No.241 ประตูสู่การภาวนา

No.241

ประตูสู่การภาวนา

ชักดุด ตุลกู หนึ่งในธรรมจารย์รุ่นสุดท้ายแห่งวัชรนิกายของทิเบต ได้เทศนาธรรมที่น่าประทับใจ ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแนวปฏิบัติให้กับเราได้เป็นอย่างดี

# ศัตรูมิได้อยู่ตรงหน้า แต่แท้ที่จริงคือ “ความโกรธ” ที่อยู่ในใจเรา

# การดำเนินชีวิตตามนิสัยเคยชิน เปรียบเสมือนเข้าโหมดอัตโนมัติซึ่งอันตราย เพราะมันจะไหลไปปราศจากการควบคุม เราต้องฝึกตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้าก่อนที่เหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้น

# ชาวโลกจะมองออกไปด้านนอกตัว แล้วประเมินตัดสิน ผู้ปฏิบัติธรรมจะมองเข้ามาข้างใน ประเมินพิจารณาตัวเอง แก้ไขจุดอ่อนและเพิ่มจุดแข็งของตัวเอง

# ชีวิตเราเป็นมายาดั่งความฝันทั้งยามตื่นและยามหลับ และเมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ในความฝัน ความกลัว ความสับสน ความยึดมั่น ความคาดหวัง ก็ย่อมสิ้นสุดลง แล้วเราก็จะกลายเป็นผู้เปลี่ยนแปลงและบงการความฝันนั้นได้

# การตรัสรู้ หมายถึง การประจักษ์แจ้งอย่างสมบูรณ์ถึงธรรมชาติเดิมแท้ของเราซึ่งเรียกว่า “พุทธะ”

# ดูแลร่างกายเพื่อเป็นทาสรับใช้จิต แล้วปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตสู่ความเป็น “กัลยาณจิต” อันหมายถึงจิตบริสุทธิ์ ดีงาม ประกอบด้วยเมตตากรุณา

# ทุกขณะที่ชีวิตยังมีลมหายใจเข้าออก พึงพิจารณา “ทิฏฐิสี่” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรม อันได้แก่

1. โอกาสล้ำค่าของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์: การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นแสนยากมากๆ รวมทั้งมีศักยภาพสูงมากในการที่จะบรรลุธรรม อย่ามัวหลงระเริงแล้วปล่อยโอกาสทองเช่นนี้หลุดไป เพราะจะเสียใจอย่างมหาศาล

2. ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง: ไม่มีสิ่งใดเลยที่เที่ยงแท้คงตัว ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง แม้ชีวิตเราก็ต้องเสื่อมสลาย และตายจากไป แล้วใยไปยึดมั่นกับสิ่งต่างๆนั้นทำไมเล่า

3. กฎแห่งกรรมนั้นแน่นอน: ไม่มีใครหนีกฎแห่งกรรมได้ ดังนั้นจงหยุดสร้างรอยกรรมที่เป็นอกุศล และสร้างรอยกรรมที่เป็นกุศล รอยกรรมที่เป็นกุศลนี้จะค่อยๆช่วยลบรอยกรรมอกุศลที่เคยมีมานั้นได้

4. วัฏฏะแห่งทุกข์: ตราบใดที่เรายังไม่เข้าถึงการรู้แจ้ง เราก็ยังต้องวนเวียนเกิดตายอยู่ในสังสารวัฏแห่งกองทุกข์

# โพธิจิต หมายถึง จิตแห่งการตรัสรู้เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก มีวิธีที่จะโน้มนำโพธิจิตไปสู่ทุกแง่มุมในชีวิตประจำวันของเรานั่นก็คือการบำเพ็ญ “บารมีหก” อันได้แก่

1. ทาน: การให้สิ่งของ ความรู้ อภัย เป็นการลดการยึดติด ลดความโลภ ช่วยให้จิตเป็นอิสระจากความกลัว

2. ศีล: การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ มุ่งทำแต่สิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์

3. ขันติ: อดทนต่อการบีบคั้นทำร้ายของผู้อื่น อดทนต่อความยากลำบากในการปฏิบัติธรรม

4. วิริยะ: ความพากเพียรไม่ลดละจนกว่าเป้าหมายในการปฏิบัติจะลุล่วง พากเพียรในหนทางธรรม เพื่อจะได้บรรลุถึงพระนิพพาน

5. สมาธิ: การบำเพ็ญสมถภาวนา เพื่อความสงบ มั่นคง ตั้งมั่นของจิต เสริมสร้างพลังให้จิต

6. ปัญญา: การบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา เพื่อการตื่นรู้ประจักษ์แจ้งในปรมัตถธรรม อยู่เหนือความคิดแบ่งแยกสามัญ เหนือปิติภาวะ อันเป็นของชั่วคราว

เพื่อนๆครับ ชีวิตเรานี้โชคดีนักที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ดังนั้นอย่างปล่อยโอกาสอันมีค่านี้หลุดลอยไป ด้วยการหมั่นระลึกถึง “ทิฏฐิสี่” และปฏิบัติตามแนว “บารมีหก” จะได้ไม่เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์นะครับ

รักจากหมอคิม

13 สิงหาคม 2564