Art & Culture

คนกอง : เติบโตในกองถ่าย และตายในหน้าที่

เมื่อเบื้องหน้าที่สวยงาม ต้องแลกมาด้วยสุขภาพและความเสี่ยงของคนเบื้องหลัง

เรื่อง: อสมาภรณ์ พิริยะโภคานนท์
ภาพ: เปมิกา จิระนารักษ์ วิชดา สุวินิจจิต และเจณิกาพร ปิยะรัตน์

“สวัสดิการกองถ่ายก็คงจะเป็น ‘นอนน้อย เอ็มร้อยฟรี’ ” คำนิยามสั้นๆ จากมุมมองของ ชาคริต พวงมณี ฟรีแลนซ์ผู้ทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์

เมื่อหกโมงเช้าคือเวลาปกติที่ “คนกอง” จะต้องพาตัวเองไปอยู่ ณ สถานที่ถ่ายทำ ระยะเวลาการทำงานหนึ่งคิวมาตรฐานเท่ากับ 12 ชั่วโมง หรือในบางกรณีก็ 16 ชั่วโมงต่อวัน หากเป็นกองถ่ายภาพยนตร์ เวลาทำงานจะสิ้นสุดที่หกโมงเย็น แต่ถ้าหากเป็นกองถ่ายละคร ทุกคนจะได้ตอกบัตรเลิกงานในเวลาสี่ทุ่ม นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานเมื่อเทียบกับอาชีพทั่วไป

และในช่วงเวลาการทำงานนั้น เหล่าทีมงานต้องใช้แรงงานมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ นั่นหมายถึง พวกเขาจะต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างหนัก เป็นเวลาต่อเนื่องติดต่อกันเกือบทุกวัน จึงไม่แปลกที่เครื่องดื่มชูกำลังจะกลายเป็นรสชาติที่คุ้นเคย

กองถ่ายภาพยนตร์กำลังถ่ายทำนอกสถานที่ในช่วงกลางดึก

“ตอนนี้มันก็บอกแค่ใต้ตา แต่ก็ไม่รู้ว่าข้างในมันพังขนาดไหนแล้ว คิดว่าก็น่าจะพังนะ แต่ยังไม่เคยว่างไปตรวจสุขภาพ คิดดูแล้วกัน” ชาคริตเผยถึงช่วงเวลาอันเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน เขาเล่าว่าในช่วงหนึ่งเดือนหรือ 30 วัน เขาเคยรับงานมากถึง 32 คิว 

“ต้นเดือนมีคนมาจองวันที่ 15 แต่ว่าถัดมามีคนมาจองวันที่ 14 บอกว่าจะเลิกหกโมงเย็น ก็รับไป แต่พอเอาเข้าจริงมันดันมี OT (ทำงานล่วงเวลา) มโหฬาร เลิกมาตีสี่ แล้ววันที่ 15 ที่เรารับไว้ตั้งแต่ต้นเดือนล่ะ เราก็ไม่รู้ว่าวันที่ 14 มันจะเลิกดึกขนาดนี้” ชาคริตบอก

เขาชี้ว่า ปัญหาที่คนกองต้องทำงานหนัก บางครั้งไม่ได้มาจากการโหมรับงานโดยไม่ได้วางแผน แต่เพราะงานกองถ่ายเป็นงานที่ต้องทำให้จบในวันต่อวัน อีกทั้งยังต้องอาศัยคนจากหลายฝ่ายทำงานร่วมกัน ดังนั้นถึงแม้ว่าทีมงานจะเหนื่อยหรือทำงานเกินเวลา ก็ไม่สามารถที่จะทิ้งงานกลับบ้านได้เหมือนสายงานอื่นๆ 

หากลองมองไปรอบตัว สื่อภาพเคลื่อนไหว ทั้งวิดีโอและภาพยนตร์ ปรากฏให้เห็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายบิลบอร์ด ทีวีดิจิทัล ไปจนถึงคลิปไวรัลในสื่อออนไลน์ ซึ่งชิ้นงานทั้งหมดนั้นอาศัยมนุษย์ในการสรรค์สร้าง และเมื่อสื่อภาพเคลื่อนไหวไม่ได้อยู่แค่ในสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์เหมือนในอดีต แต่ยังโลดแล่นอยู่บนช่องทางสื่ออื่นๆ อีกมากมาย การแข่งขันของผู้ผลิตสื่อจึงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 

ผู้กำกับภาพและผู้ช่วยผู้กำกับภาพกำลังซักซ้อมมุมกล้องก่อนถ่ายจริง

“มันมีสิ่งที่เรียกว่าซีรีส์ ที่อยู่ระหว่างละครโทรทัศน์กับหนัง ซึ่งการถ่ายซีรีส์โดยมากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หรือโฆษณามาทำ เขาก็ถ่ายแบบนั้น แต่คิวมันดันเป็นเหมือนคิวละคร” อนุชา บุญยวรรธนะ หรือ นุชี่ ผู้กำกับภาพยนตร์สายรางวัลซึ่งขณะนี้ผันตัวมาทำซีรีส์อธิบาย และเสริมว่ารูปการของวงการผลิตสื่อในประเทศไทยในยุคสมัยนี้ ผู้กำกับบางคนอาจจะรับงาน ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และรูปแบบละคร เนื่องจากผู้ชมในยุคปัจจุบันไม่ได้มองว่าเป็นสื่อภาพยนตร์หรือละคร แต่มองว่าทุกอย่างคือเนื้อหา 

ดังนั้น ซีรีส์จึงทำให้รูปแบบการทำงานของทีมงานเบื้องหลังเริ่มเกิดปัญหา เนื่องจากมีลักษณะที่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนการถ่ายภาพยนตร์ แถมพ่วงด้วยระยะเวลาการทำงาน 16 ชั่วโมงแบบละคร 

“ในกระบวนการของการถ่ายทำภาพยนตร์ มันทำให้ถึงตายได้นะคะ นั่งรถไปโลเคชั่น รถตู้คว่ำ รถทีมไฟตกเขา เครนล้ม คนตาย ช่างไฟโดนไฟดูด คนตาย งานมันผลักให้เราไปอยู่ใน สถานการณ์นั้นนะ ทำไมเราถึงไม่มีการคุยอะไรแบบนี้”

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ

นอกจากนั้น ภาวะการแข่งขันก็บังคับให้เหล่าบริษัทผู้ผลิตต้องห้ำหั่นราคาเพื่อให้ตัวเองมีลมหายใจต่อไปในอุตสาหกรรมได้ เมื่อเม็ดเงินน้อยลง ย่อมหมายถึงจะต้องมีบางอย่างถูกลดทอนออกไป บ่อยครั้งสิ่งที่ถูกตัดออกไปอย่างน่าเศร้าใจ คือสวัสดิการและความรื่นรมย์ในการทำงานของทีมงาน 

ความท้าทายนี้ตกอยู่ที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดการกองถ่าย งานแก้ปัญหาที่ไม่ได้พึ่งแค่ศาสตร์ แต่ต้องมีศิลป์ เพราะพวกเขาจะเป็นคนตัดสินว่าเหล่าคนกองจะมีความเป็นอยู่อย่างไร 

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ กล่าวว่าหน้าที่ที่แท้จริงของโปรดิวเซอร์นอกจากเรื่องเงินแล้ว ยังต้องสร้างกลไกอันก่อให้เกิดความยุติธรรมและดูแลความเป็นอยู่ของบุคลากร ทว่าหน้าที่ดังกล่าวนั้น สังคมไม่ค่อยรับรู้อย่างเด่นชัด  

“ในกระบวนการของการถ่ายทำภาพยนตร์ มันทำให้ถึงตายได้นะคะ นั่งรถไปโลเคชัน รถตู้คว่ำ รถทีมไฟตกเขา เครนล้ม คนตาย ช่างไฟโดนไฟดูด คนตาย งานมันผลักให้เราไปอยู่ใน สถานการณ์นั้นนะ ทำไมเราถึงไม่มีการคุยอะไรแบบนี้” คัทลียาบอก

คัทลียามองว่า สิ่งที่สาคัญที่สุดและเป็นพื้นฐานของการจัดการกองถ่าย คือการพูดคุยและหาข้อตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมคำนวณว่า จำนวนเงินที่ได้มาจะสามารถทำงานได้ในระดับไหน 

เธอชี้ว่าถึงแม้ในส่วนของตัวเองจะพยายามดูแลทีมงานอย่างดี แต่นั่นก็อาจจะยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและผู้ผลิตทุกบริษัทในการสร้างมาตรฐานการทำงานร่วมกัน 

“ต่อให้เราไม่ใช่หนังต่างประเทศ มันเป็นสำนึกบางอย่างที่เราทำได้” คัทลียากล่าว 

ทีมงานใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือให้ความสว่างเพื่อเขียน “รีพอร์ท” หรือรายงานที่แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายทำแต่ละครั้ง

อัญชิษฐา พงษ์ชุบ โปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่ที่มักจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับกองถ่ายต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งเล่าว่า ผู้ผลิตในตลาดสากลจะเข้มงวดกับชั่วโมงการทำงาน และกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของคนในกองอย่างจริงจัง นับตั้งแต่เรื่องโครงสร้างที่ต้องมีวิศวกรมาตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารก่อนที่แผนกศิลป์จะเริ่มงานตกแต่งฉาก การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดให้กับทีมงานในฤดูไข้หวัดระบาด ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การนำผ้ายางมาปูทับสายไฟเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม 

“มันไม่ใช่เรื่องความหรูไม่หรู มันเป็นเรื่องของการที่เราแคร์คนของเรา” เธอกล่าว 

นอกจากการทำงานกับกองถ่ายต่างประเทศแล้ว อัญชิษฐายังรับงานโฆษณาของผู้ผลิตขนาดเล็กอีกด้วย เธอจึงย้ำอย่างมั่นใจว่า ไม่ว่าจะในการผลิตขนาดเล็กหรือใหญ่ มาตรฐานสวัสดิการที่ดีของทีมงานสามารถเกิดขึ้นได้ 

ด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเป็นธรรมให้กับเพื่อนร่วมอาชีพ อัญชิษฐาจึงมีอีกหนึ่งตาแหน่งหน้าที่ นั่นคืออุปนายกสมาคมผู้ประกอบอาชีพภาพยนตร์และสื่อ ดิจิทัล (Film & Digital Media Crew Association Thailand : FDCA) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนในงานการผลิต โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันสามประการ ได้แก่ พัฒนาและยกระดับอาชีพให้มีมาตรฐานในระดับสากล คุ้มครองสมาชิกให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทผู้ผลิตกับทีมงาน

กระนั้นอัญชิษฐาก็ยอมรับว่า เรื่องคุณภาพชีวิตของคนกองเป็นเรื่องใหม่ของวงการที่ไม่เคยถูกให้ความสำคัญมาก่อน ดังนั้น ในช่วงสามปีที่สมาคมถือกำเนิดขึ้น จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ การจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมจึงอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางการแก้ไขปัญหาด้านสวัสดิการและชั่วโมงการทางานของเหล่าคนกอง อย่างไรก็ตาม อัญชิษฐาชี้ว่า การก่อต้ังสหภาพแรงงานด้านการผลิตภาพยนตร์ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมวด 7 มาตรา 88 ระบุว่า ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทางานในกิจการ ประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน บรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย 

ด้าน ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแรงงานอธิบายว่า คำว่าลูกจ้างที่จะเข้าในข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นแรงงานในระบบ แต่การทำงานในลักษณะกองถ่ายนั้นเข้าข่ายการเป็นสัญญาจ้างเอกชน นั่นคือ งานในลักษณะที่นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา แต่เวลาการทำงานไม่แน่นอน ซึ่งแรงงานในสัญญาเช่นนี้จะถูกนับว่าเป็นแรงงานนอกระบบ รวมไปถึงทีมงานส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการรับจ้างอิสระ ดังนั้นจึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพได้ตามกฎหมาย 

เทปผ้ากาวเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการออกกองเนื่องจากใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือใช้ติดสายไฟให้แนบพื้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ทีมไฟและทีมกล้องจะมีเทปผ้ากาวพกติดตัวคนละหลายม้วน

ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิการของคนกองจึงมักเริ่มจากการรับผิดชอบของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานและภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสร้างมาตรฐานท้ังแง่คุณภาพงานและคุณภาพชีวิต หรือแม้กระทั่งการพยายามจัดต้ังสมาคมวิชาชีพเพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มคนทำงาน 

แต่เมื่อนโยบายทางกฎหมายไม่สามารถเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นในสนามการทำงานจริงได้ จึงเกิดคำถามว่า รัฐบาลมีการปรับปรุงแนวทางอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ 

“ปัญหาคือยิ่งย้อนกลับไปเท่าไหร่ยิ่งไม่เห็นแสงสว่าง ย้อนกลับไปไกลสุดคือรัฐบาล เขามีวิสัยทัศน์ที่จะเห็นตรงนี้หรือเปล่า ซึ่งไม่มีอยู่แล้ว” ธนกฤต ดวงมณีพร ผู้กำกับและช่างภาพเลือดใหม่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

ในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปอีกนาน ธนกฤตแสดงความกังวลต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนเบื้องหลังที่ดูเหมือนจะยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน เขามองว่า ถึงแม้อุตสาหกรรมจะพร้อมแค่ไหน ถ้าผู้มีอำนาจมองไม่เห็นความสำคัญก็ไร้ประโยชน์ “มันก็แค่น้ัน มันก็มีแค่ชื่อ สมาคมผู้กำกับ สมาคมนั่นนี่ มันไม่ได้แข็งแรง มันจะแข็งแรงก็ต่อเมื่อรัฐมองเห็น” เขากล่าว 

ทว่าในความคลุมเครือก็ใช่จะไร้ซึ่งความหวัง อัญชิษฐา โปรดิวเซอร์ผู้มากประสบการณ์ย้ำว่าทีมงานไทยมีความสามารถสูงมากและมีการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตของต่างประเทศจึงเริ่มให้ความสนใจและเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอระดับฮอลลีวูด หรือผู้ผลิตของเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของบุคลากรอย่างชัดเจน เช่น กำหนดชั่วโมงการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ห้ามถ่ายทำติดต่อกันตลอดเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ต้องมีทีมแพทย์ประจำอยู่ในกองถ่าย ฯลฯ

ดังนั้น การเข้ามาของกองถ่ายต่างประเทศจึงไม่ได้นำพามาซึ่งรายได้เพียงอย่างเดียว แต่มาพร้อมกับตัวอย่างการจัดการคุณภาพชีวิตที่จะทำให้ทีมงานไทยเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน