experience and interpretation

experience and interpretation ประสบการณ์กับการตีความ

ผู้แต่ง : สุดารัตน์ น้อยแรม
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ

หากเราสามารถนำความรู้ทั้งหมดในโลกลงใส่ในกระดาษแผ่นหนึ่งได้ และถามตัวเองว่าเรารู้อะไรบ้างในความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในกระดาษแผ่นนั้น เราจะพบความจริงว่า ความรู้ที่เรามีอยู่เป็นส่วนที่เล็กมาก ๆ ส่วนที่เราไม่รู้มันทั้งกว้าง สูง และลึกจนไม่สามารถวัดได้ ความรู้ถือได้ว่าเป็นอาวุธที่ทรงพลังของมนุษย์ เพราะความรู้ช่วยกำจัดความงมงายและใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ความรู้ ปัญญา และพลังเมื่อประสานกันอย่างพอเหมาะ จะช่วยผลักดันชีวิตไปสู่ความสุขและความสำเร็จที่ยั่งยืน ถึงอย่างไรความรู้ที่แท้จริงจะสมบูรณ์ต้องเดินควบคู่กันระหว่างการประสบข้อมูลดิบที่ยังไม่เป็นความรู้กับความรู้อันเกิดจากการตีความข้อมูลเรียกว่าประสบการณ์ คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้สร้างฐานะได้จากการหาประสบการณ์ จากการลองผิดลองถูกจนลงตัวกลายมาเป็นแนวทางให้กับ คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ศึกษา (จนกลายเป็นวิชาการ) บางคนมีความรู้แล้วไม่ทำอะไรให้เกิด เป็นความชำนาญเป็นประโยชน์ ซึ่งจะดีกว่าถ้าพยายามให้มีทั้งสองอย่างเกิดขึ้นในตัว คือเมื่อมีโอกาสเรียนก็ตั้งใจเรียนอย่างเต็มกำลังเก็บเกี่ยวความรู้ให้เต็มที่ และเมื่อทำงานก็สนใจใฝ่รู้ฝึกฝนจนเกิดเป็นความชำนาญ หรือเลือกที่จะเรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จในสายงานเดียวกัน เพราะการเรียนรู้ จากประสบการณ์ของผู้ประสบความสำเร็จก็เป็นทางลัดสู่หนทางแห่งความสำเร็จได้อีกทางหนึ่ง

มนุษย์ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพคือ สูง ต่ำ ดำ ขาว แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพันธุกรรม แต่นอกเหนือไปจากความแตกต่างทางด้านร่างกายที่ทำให้มนุษย์ มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแล้ว มนุษย์ยังมีความแตกต่างกันทางด้านความคิด ความรู้สึก รวมถึงความต้องการ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์เกิดความขัดแย้งทั้งในระดับตนและในระดับภายนอก (คือการขัดแย้งกับผู้อื่น) การรับรู้เป็นกระบวนการที่มนุษย์เลือกที่จะรวบรวม ตีความ แปลความหมาย และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับ โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส รสชาติ และการได้กลิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้คนเราแตกต่างกัน ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การรับรู้ในการตีความประสบการณ์แตกต่างกันก็คือ คุณลักษณะของผู้ที่รับรู้ คุณลักษณะของสิ่งแวดล้อมและคุณลักษณะของสิ่งที่ถูกรับรู้จากประสบการณ์ในอดีต แรงจูงใจของผู้รับรู้ ลักษณะภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สี ขนาด การเคลื่อนไหว เช่น เวลาที่ไฟดับแล้วเราจุดเทียน เราก็จะมองเห็นภาพต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วภาพที่เรามองขณะไฟดับและจุดเทียนอยู่นั้น ก็ยังคงเป็นภาพเดิมก่อนที่ไฟจะดับ

เรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ชีวิตรับรู้เกี่ยวข้อง อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นเสมอไป หากสืบสาวถึงที่มาที่ไปจริง ๆ แล้ว อาจมีความเป็นจริงหลายอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เห็นว่าเลวร้าย ก็อาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด หรือหากเลวร้ายก็อาจมีแง่มุมที่ถือว่าเป็นประโยชน์ได้ สิ่งที่เห็นว่าดีอาจเป็นเพียงสิ่งที่ลวงตา ที่มีความเลวร้ายแอบแฝงอยู่ การมีใจเป็นอคติจากความรัก ความโกรธ ความกลัว และความหลงผิด คือสาเหตุทำให้เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดพลาดไปจาก ความเป็นจริง การเป็นคนหนักแน่นและไตร่ตรองในสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผลและข้อมูลรอบด้าน ไม่ด่วนสรุปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเฉพาะหน้า จะเป็นการช่วยชะล้างอคติออกจากใจ ซึ่งจะทำให้เห็นความเป็นจริงอย่างแท้จริง

Leave a comment