หุ้นเหนือกว่าทองคำและพันธบัตรอย่างไร (จบ)

[บทความนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียนลงในนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2012 ผมเห็นว่าดีมาก จึงถอดความออกมาเป็นภาษาไทยให้ได้อ่านกันครับ]

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียน / แปลโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

การลงทุนสองประเภทที่เราได้กล่าวไปจะได้รับความนิยมสูงสุดในเวลาที่ความกลัวพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจจะล่มสลาย ทำให้ผู้คนพากันไปถือสินทรัพย์ที่อิงกับค่าเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎข้อบังคับต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาและความกลัวว่าค่าเงินจะล่มสลาย เป็นสิ่งที่ทำให้คนแห่กันไปหาทรัพย์สินที่เคลื่อนไหวไม่ได้อย่างทองคำมากที่สุด

เราได้ยินคำว่า “เงินสดคือพระเจ้า” (Cash is King) ในปี 2008 ซึ่งเป็นเวลาที่เราควรเอาเงินสดออกมาลงทุน ไม่ใช่เก็บไว้ เราได้ยินคำว่า “เงินสดคือขยะ” ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นเวลาที่การลงทุนแบบตรึงกับค่าเงินดอลล่าร์อยู่ในระดับที่น่าดึงดูดในที่สุดในความทรงจำ

ในช่วงเวลานั้น นักลงทุนที่จะทำอะไรก็ต้องรอให้ฝูงชนเห็นด้วยเสียก่อน จึงพลาดโอกาสงามๆ ครั้งใหญ่ในชีวิตไป

สำหรับความชอบส่วนตัวของผม ได้แก่ การลงทุนในประเภทที่สาม ซึ่งคุณก็รู้ว่าคืออะไร นั่นก็คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลิตผล ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ เรือกสวนไร่นา หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยอุดมคติแล้ว ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้มีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนอันทำให้ผู้เป็นเจ้าของมันยังคงรักษาอำนาจซื้อไว้ได้แม้ในเวลาที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยมีจำเป็นน้อยมากที่จะต้องเอาทุนใส่เพิ่มเข้าไป

เรือกสวนไร่นา อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจต่างๆ เช่น โคคาโคล่า ไอบีเอ็ม รวมทั้ง ซีส์ แคนดี ของเรา ได้ผ่านการทดสอบในช่วงที่เงินเฟ้อเป็นเลขสองหลักมาแล้ว ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ก็มีบ้างที่แพ้เงินเฟ้อ เพราะต้องเอาเงินลงทุนใส่เพิ่มเข้าไปค่อนข้างมากเพื่อจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นจึงต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้มากขึ้น แม้กระนั้น การลงทุนเหล่านี้ก็ยังเหนือกว่าพวกสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลิตผลและสินทรัพย์ที่อิงกับค่าเงินทั้งหลาย

ไม่ว่าค่าเงินในหนึ่งศตวรรษต่อจากนี้ไปจะอิงอยู่กับทองคำ เปลือกหอย ฟันฉลาม หรือกระดาษ (เหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้) ผู้คนก็พร้อมที่จะเอาแรงกายของตนเองในแต่ละวันเพื่อแลกกับโคคาโคล่าสักกระป๋องหรือถั่วของซีส์

ในอนาคต ประชากรอเมริกันที่เพิ่มจำนวนขึ้นย่อมจะบริโภคสินค้ามากขึ้น กินอาหารมากขึ้น และต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้นกว่าทุกวันนี้ ผู้คนย่อมจะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองผลิตได้กับสิ่งที่คนอื่นผลิตได้ตลอดไป ธุรกิจในประเทศของเราจะยังคงนำส่งสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการให้กับประชาชนต่อไป

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ธุรกิจเหล่านี้ก็คือ “วัว” ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเป็นร้อยๆ ปี และให้ “นม” เราได้อีกมากมาย มูลค่าของมันมิได้วัดโดยตัวกลางในการแลกเปลี่ยนใดๆ แต่วัดจากความสามารถในการผลิตนมของมัน ยอดขายนมที่เพิ่มขึ้นจะทบต้นเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของวัว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อศตวรรษที่ 20 ที่ดาวเพิ่มจาก 66 ถึง 11,497 จุด (และให้ปันผลมากมายเช่นกัน)

เป้าหมายของเบิร์คไชร์ คือสะสมธุรกิจชั้นนำเข้ามาในพอร์ทให้มากขึ้น ทางเลือกแรกของเราคือเป็นเจ้าของมันทั้งหมด แต่อีกทางหนึ่งก็คือ เป็นเจ้าของโดยถือหุ้นซึ่งซื้อขายเปลี่ยนมือได้ของบริษัทนั้นในสัดส่วนพอสมควร

ผมเชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็น “ผู้ชนะ” เหนือกว่าสินทรัพย์ในอีกสองประเภทที่เราได้อรรถาธิบายให้ฟังแล้ว ที่สำคัญกว่าก็คือ มันจะเป็นการลงทุนที่ ปลอดภัยกว่ามาก

— จบ —

Leave a comment