บลอกอาจารย์โจ้

Science Fair

ปกติผมก็มักจะได้รับเชิญไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์จากที่นู้นทีที่นี้ที ไม่ว่าจะเป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์แบบบรรยายและแบบโปสเตอร์ (รวมถึงแบบที่ใช้บอร์ดแบบที่เห็นในภาพ) บังเอิญมีอาจารย์ให้ช่วยเขียนโครงร่างของการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ให้กับเครือข่ายโรงเรียนที่มีหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Programme) ก็เลยได้ลองเสนอไอเดียไปจากประสบการณ์ที่เคยได้รับประสบมา ผมก็ไม่ทราบว่าจะโดนนำไปใช้มากน้อยแค่ไหน

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

รูปแบบการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เห็นโดยทั่วไปจะเป็นแบบนำเสนอโปสเตอร์หรือเป็นบอร์ดดังที่เห็นในภาพข้างบน อาจมีข้าวของแสดงประกอบโครงงานของตน มักเป็นภาพที่เห็นกันโดยทั่วไปในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมปลาย ในขณะที่ระดับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมักเป็นโปสเตอร์เปล่าๆติดกับแบบเรียบๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่ทำงานทางด้านวิศวกรรม หรือในกรณีที่เจ้าของผลงานต้องการนำเสนออุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ หรือเป็นลูกผสมของทั้งสองแบบ

  1. แบบโปสเตอร์ เช่นนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์นักเรียนโครงการฯอัจฉริยภาพ
  2. แบบบรรยาย เช่นการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ในการประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (ICYS)
  3. แบบโปสเตอร์และแบบบรรยาย เช่นการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  4. แบบประกวดผ่านอินเตอร์เน็ต เช่นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของกูเกิ้ล (Google Science Fair 2012) หรือการประกวดโครงงานกับไทยวัฒนาพานิช

เรื่องของรูปแบบนั้น ผมก็เล่าให้ฟังทั้งสามแบบแล้วก็ลองให้ทางอาจารย์ไปประชุมกันว่านักเรียนของแต่ละโรงเรียนมีความพร้อมแค่ไหน

การเตรียมงาน

เวลาในการเตรียมงานเหลือน้อยมากๆ ผมเข้าใจว่าต้องเตรียมงานเพื่อให้ทันวันจัดประกวดจริงประมาณต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกประมาณสองสัปดาห์ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องเจอเส้นตายแปลกๆ เช่นสัปดาห์หน้าต้องส่ง หรือพรุ่งนี้ต้องส่งอยู่เป็นประจำ ทางโรงเรียนและนักเรียนที่มีหน้าที่ล่ารางวัลคงจะเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เช่นนี้เอาไว้แล้ว เช่นอาจจะใช้โครงงานที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้วมาส่งลงประกวดในปีนี้แทน (เพราะปีที่แล้วก็อาจจะส่งไม่ทันนั่นเอง) ปัญหาก็คือนักเรียนเจ้าของงานอาจจะรู้สึกว่าต่อไม่ติดกับงานที่อาจจะทิ้งไปแล้ว

สูจิบัตร หรือ หนังสือบทคัดย่อ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมีเมื่อถึงวันงาน นั่นหมายความว่าเจ้าของโครงงานควรจะต้องส่งหัวข้อและบทคัดย่อให้กับเจ้าภาพก่อนเริ่มงานอย่างน้อยก็หนึ่งสัปดาห์หากจะใช้วิธีถ่ายเอกสารแบบริโซกราฟแจก แต่หากต้องส่งโรงพิมพ์ ก็ต้องเผื่อเวลาให้มากกว่านั้น เช่นเป็นเดือน เพื่อจัดทำรูปเล่ม ส่งโรงพิมพ์ไปทำตัวต้นแบบให้ตรวจอ่าน ก่อนสั่งพิมพ์จริงเป็นต้น

กฎ กติกา มารยาท

  1. ขนาดของบอร์ดโดยทั่วไปจะกำหนดขนาดที่ 90×120 เซนติเมตร ที่มักออกมาเป็นบอร์ดแนวนอน และพับได้ ซึ่งเมื่อกางออกด้วยมุมที่เหมาะสมจะสามารถตั้งได้ด้วยตัวเอง อาจมีการกำหนดว่าเครื่องประดับหรือป้ายเพิ่มเติมจะต้องไม่ล้ำเกิน 20 เซนติเมตรจากตัวบอร์ด แต่หากเป็นแบบโปสเตอร์ ก็มักจะกำหนดขนาดที่ A0 ซึ่งก็คือ 90×120 เซนติเมตรนั่นเอง (หรือ 33.11 × 46.81 นิ้ว) แต่มักวางเป็นแนวตั้งแทน แต่หากอยากเห็นความคิดสร้างสรรค์ในการทำบอร์ดนำเสนอโครงงานก็ไม่ต้องระบุเรื่องเหล่านี้ แต่ให้บอกข้อจำกัดเช่นพื้นที่ในการนำเสนอโครงงานของแต่ละคน เช่นเป็นเรื่องของขนาดของโต๊ะที่ใช้ตั้งโครงงานเพื่อการนำเสนอเป็นต้น
  2. จำนวนนักเรียนแต่หนึ่งโครงงาน มักอยู่ที่ไม่เกิน 3 คน ซึ่งหมายความว่าจะทำคนเดียวหรือสองคนก็ได้ หากต้องการสนับสนุนการทำงานเป็นทีมก็ควรระบุจำนวนไปเลยเช่น 3 คนกำลังดี
  3. จำนวนโครงงานที่ส่งเข้าประกวดได้ มักไม่จำกัดจำนวน แต่หากมีโครงงานส่งเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก อาจต้องหาทางจำกัดจำนวนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นจำกัดจำนวนโครงงานที่ส่งเข้าประกวดได้ต่อโรงเรียนไว้ หรือจำกัดตามระดับชั้นการเรียน เช่นระดับม.ต้น ระดับม.ปลาย หรือจำกัดตามสาขาวิชา เช่นโครงงานคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สิ่งประดิษฐ์/วิศวกรรม)
  4. กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์ ควรจะมาจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดความยุติธรรม เช่นมาจากตัวแทนโรงเรียนที่ส่งโครงงานเข้าประกวดเองส่วนหนึ่ง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากส่วนหนึ่ง รูปแบบการประกวดเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ปฏิบัติยาก เช่นกรรมการควรดูทุกโครงงานเพื่อตัดสินได้อย่างยุติธรรมต่อผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด หากแบ่งกลุ่มโครงงานให้กลุ่มกรรมการย่อย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ากรรมการแต่ละกลุ่มมีมาตรฐานในการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์เท่าเทียมกัน ในการประกวดที่จริงจังต่อการพัฒนาการของนักเรียน อาจให้กรรมการเขียนข้อเสนอแนะและมอบให้นักเรียนไปปรับปรุงโครงงานและการนำเสนอเพิ่มเติมได้อีกด้วย

เกณฑ์การตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์

จากประสบการณ์ที่ไปเป็นกรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์มาหลายรูปแบบในหลายๆที่ ผมพบว่าเกณฑ์การตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดแต่มีหลักการเหมือนกัน เช่นต้องการวัดความเข้าใจกระบวนการวิทยาศาสตร์ การนำเสนอ การตอบคำถาม ฯลฯ ผมขอเสนอเกณฑ์ง่ายๆ 5 ข้อดังต่อไปนี้

  1. ความน่าสนใจของโครงงาน ความคิดสร้างสรรค์ (5 คะแนน)
  2. ความถูกต้องตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ (5 คะแนน)
  3. ผลการทดลอง การสรุปผล และการอภิปรายผลการทดลอง (5 คะแนน)
  4. คุณภาพของสื่อการนำเสนอ เช่นสไลด์ โปสเตอร์ หรือบอร์ด (5 คะแนน)
  5. การนำเสนอ และการตอบคำถาม (5 คะแนน)

ผมเคยพบว่าเกณฑ์ของการประกวดบางที่ให้ความสำคัญกับสื่อเช่นโปสเตอร์มากกว่าความถูกต้องของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บางเกณฑ์ก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการและผลมากกว่าการนำเสนอและการตอบคำถาม (เช่นกรรมการดูแต่โปสเตอร์โดยไม่ต้องฟังเจ้าของโครงงานอธิบายหรือตอบถามกันเลยก็มี) แต่เกณฑ์ที่ผมเสนอก็เป็นเกณฑ์ที่จะเอาทุกด้านอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่เน้นด้านวิทยาศาสตร์มากกว่านิดหน่อย

แต่ละข้อควรจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมด้วย (อาจจะเขียนเพิ่มในการอัพเดทครั้งหน้า) ซึ่งควรอธิบายให้กรรมการร่วมติดสินเข้าใจร่วมกันก่อน เรียกว่าการปฐมนิเทศกรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งการประกวดส่วนมากจะมีขั้นตอนนี้กัน

รางวัลของการแข่งขัน

ในเบื้องต้นก็ควรมีประกาศนียบัตรเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อให้นักเรียนเอาไปในแฟ้มภาพผลงาน (portfolio) ส่วนรางวัลก็อาจจะเป็นดังนี้ แต่นักเรียนไม่ได้ทำงานเพื่อรางวัลจริงไหมครับ (อาจจะไม่จริง)

  1. รางวัลดีเลิศ (ที่ 1) รางวัลดีเยี่ยม (ที่ 2) หรือจะเรียกรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และมีรางวัลชมเชยเป็นต้น อาจมีเงินให้เป็นทุนการศึกษา ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังบางที่อาจให้เงินรางวัลเป็นหลักแสนบาท (เช่น Intel ISEF)
  2. เหรียญรางวัล ตามกระแสโอลิมปิกวิชาการ เช่นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้คะแนนลำดับต้นๆ 10% แรกของการแข่งขันจะได้รับเหรียญทองและประกาศนียบัตร และให้เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ตามลำดับ
  3. รางวัลพิเศษ เช่น รางวัลขวัญใจมหาชน (popular vote) รางวัลพิเศษโครงงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รางวัลสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้ได้จริง รางวัลการใช้คณิตศาสตร์แก้ปัญหาดีเด่น ฯลฯ

หมายเหตุ

ใครอยากเสนออะไรเชิญได้ครับ ผมก็จะคอยดูว่าไอเดียที่นำเสนอจะถูกนำไปใช้รึเปล่าเหมือนกัน

Shortlink: http://wp.me/pBR5f-il


ใส่ความเห็น