คนละครึ่งจะได้ไปต่อไหม?

ช่วงนี้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเจอปัจจัยรุมเร้าจากภายนอกเข้ามากระตุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะในจีน ยังไม่นับรวมภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ แถมไทยเจอปัญหาค่าเงินบาทอ่อน และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสวนทางกับรายได้

เมื่อเจอมรสุมที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด ทำให้ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่มาอยู่ที่ 3.5% ลดลงจากเดิมที่ 4% ตัวเลขดังกล่าวเมื่อมาประเมินกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5% ต่อไป ซึ่งตีความง่ายๆ ก็คือ ในปีนี้รายได้ของคนไทยเฉลี่ยจะเติบโตน้อยกว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้น ประเด็นนี้ส่งผลโดยตรงกับกำลังซื้อของคนไทยอย่างแน่นอน

 นี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่ารัฐบาลจะช่วยประคองกำลังซื้อของคนไทยต่อไปอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับภาวะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย

แน่นอนที่ผ่านมารัฐบาลพยายาม (เติมกระสุน) ให้ประชาชนโดยตรง ผ่านโครงการร่วมจ่าย อย่างโครงการเพิ่มกำลังซื้อและคนละครึ่ง ซึ่งผ่านมาถึง 4 เฟสก็กระตุ้นการใช้จ่ายรวมๆ 4-5 แสนล้านบาท โดยครึ่งๆ เป็นงบประมาณโดยตรงจากทางรัฐบาล

แต่วิธีการนี้แม้จะเป็นการอัดฉีดเงินโดยตรงลงถึงประชาชน และได้ผลดี แต่มันก็เป็นภาระงบประมาณที่มหาศาลมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลนำเงินส่วนนี้มาจากการกู้เงิน เป็นภาระที่ประเทศจะต้องใช้คืนหนี้ต่อไป

ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่ยังต้องลุ้นว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่อีกหรือไม่? และด้วยความไม่ชัดเจนนี้เองก็เป็นช่องทางให้ข่าวเฟกนิวส์ออกมา ที่มีการระบุว่ารัฐบาลจะลดการสนับสนุนลงเหลือ 25% ไม่ใช่คนละครึ่ง 50% เหมือนแต่ก่อน

ประเด็นนี้ร้อนไปถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เคยมีการพูดเรื่องการปรับสูตร และไม่เคยพูดว่าจะมีการต่อมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ด้วยซ้ำ

เจ้าตัวทิ้งท้ายว่า การจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ ต้องประเมินอีกครั้ง ซึ่งต้องดูหลายองค์ประกอบ อาทิ การเพิ่มขึ้นของรายได้สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ผู้มีรายได้รายวันนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาจะมีผลทำให้เงินหมุนเวียนอย่างไร

สาเหตุที่ต้องประเมินรอบด้านก็เพราะว่า กระสุนที่รัฐบาลเคยเติมให้เริ่มร่อยหรอลง โดยเฉพาะฐานะการคลังที่เริ่มตึงตัวไปทุกที

จากข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท และงบกลางเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาท (กันไว้ใช้สำหรับภัยพิบัติ 3-4 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประเมินว่า หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะยังสามารถมีพื้นที่ทางการคลังกู้เงินเพิ่มได้อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ขยายกรอบจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP (ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.17% ของ GDP)

คงต้องวัดใจว่า รัฐบาลจะกล้ากู้เงินมาเพิ่มเพื่อใส่ในโครงการกระตุ้นใช้จ่ายอีกหรือไม่ เพราะแนวทางนี้ไม่ใช่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มันเหมือนเป็นน้ำยาหล่อลื่นให้เศรษฐกิจทำงาน แต่ถ้าหล่อลื่นมากไปจนทำให้เกิดความเคยชิน ระยะยาวก็ย่อมส่งผลเสีย ทั้งต่อตัวประชาชนและรัฐบาล ที่สุดท้ายก็จะต้องมาร่วมชะตากรรมในการชดใช้หนี้กันหัวโต

จากนี้ก็คงต้องเฝ้ารอว่ารัฐบาลจะเดินหน้ากับเรื่องนี้อย่างไร.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี