ปลดฟ้าผ่า‘อธิบดีดีเอสไอ’ เฮียชูแฉเอกสารรีดจีนเทา

"สมศักดิ์" เด้งฟ้าผ่าปลด "ไตรยฤทธิ์" พ้นดีเอสไอย้ายไปนิติวิทย์ สลับ "สุริยา" โยกนั่งรักษาการแทน แต่เข้าตัวอ้างเสนอตัวสมัครใจขอย้ายเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ด้าน "ชูวิทย์" เปิดเอกสาร ต้นเหตุดีเอสไอตบทรัพย์ “จีนเทา” 

เมื่อวันที่​ 18 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งลงวันที่ 18 ม.ค.2566 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการและรักษาราชการแทน โดยให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้การบริหารงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่เหมาะสมกับภารกิจในความรับผิดชอบของส่วนราชการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของทางราชการ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ด้านนายไตรยฤทธิ์เผยว่า ก่อนรัฐมนตรียุติธรรมมีคำสั่งให้ตนย้ายจากอธิบดี DSI เมื่อวานนี้ 17 ม.ค.2566 ได้เข้ารายงานให้กับทีมงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว และได้พูดคุยถึงแนวทางที่จะยุติ และให้การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ ในกรมสอบสวนคดีพิเศษเดินหน้าต่อไป ตนจึงเป็นฝ่ายขอย้ายออกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนตัวถือว่า 1 ปีเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นพอแล้ว

“เมื่อฝ่ายที่ทำคำสั่งในวันนี้ได้ยินจากปากผมแล้ว ก็สบายใจที่จะทำคำสั่งย้ายออกมาในวันนี้” นายไตรยฤทธิ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าจะต้องเดินทางภายใน 15 วัน หรือเดินทางทันที หรือจะต้องรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนหรือไม่

นายไตรยฤทธิ์เผยว่า ที่ผ่านมาทำงานในตำแหน่งอธิบดี DSI ประมาณ 1 ปีเศษ ได้พยายามทำให้คน DSI ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายที่ ให้รักษาคุณธรรมองค์กร คือ เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ ถือว่าได้ทำอย่างเต็มที่ และรวมถึงการนำซอฟต์เพาเวอร์มาใช้ในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การทวงคืนหาดเลพัง-ลายัน จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท และทวงคืนป่าต้นน้ำย่าง อ.ปัว จ.น่าน รัฐได้พื้นที่คืน

วันเดียวกันนี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความและเอกสาร ต้นเหตุ DSI ตบทรัพย์ “จีนเทา” โดยระบุว่า เรื่องเริ่มจากวันที่ 9 ธันวาคม 2565 สถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย ส่งหนังสือให้อธิบดี DSI ช่วยตรวจสอบ “บ้านพัก” ของกงสุลใหญ่ เพราะเจ้าของบ้านที่ให้เช่า ร้องเรียนมาที่สถานกงสุลว่า “มีรถเข้าออกมาก และเป็นคนจีนเข้าออกถึงตี 3 ตี 4 รบกวนผู้พักอาศัยข้างเคียงเดือดร้อน” สถานกงสุลใหญ่นาอูรูจึงตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว พบว่าไม่ใช่บ้านกงสุลใหญ่ของนาอูรูจริง แต่กลับเป็นของพวกจีนเทา ดูเอาแล้วกันพวกนี้ทำกันยังไง

ประการแรก จีนเทาใช้รถตู้โตโยต้า อัลพาร์ด สีดำ ทะเบียน ก-59 1005 กทม. เป็นป้ายสีฟ้า ตัวอักษรสีขาว แต่ความเป็นจริง รถประจำตำแหน่งของกงสุลใหญ่นาอูรูเป็นยี่ห้อโตโยต้า เอสติมา แอล สีดำ ทะเบียนเดียวกันเป๊ะ พวกจีนเทาปลอมถึงขนาดป้ายทะเบียน แล้วไปแปะบนรถตู้อัลพาร์ดแทน, ตราประทับของสถานกงสุลนาอูรูบนสัญญาเช่าบ้าน ตรวจสอบแล้วไม่มีบันทึกรายงานการนำตราประทับไปใช้ จีนเทาทำได้อยู่แล้ว แม้แต่ปลอมตราประทับของสถานกงสุลและลายเซ็นบนสัญญาเช่าบ้าน เป็นการปลอมลายเซ็นของกงสุลใหญ่ที่ย้ายออกจากตำแหน่งไปแล้ว

ดังนั้น ต้องทราบว่าสถานกงสุลใหญ่ขอให้อธิบดี DSI ช่วยตรวจสอบบ้านหลังนี้ว่ามีใครมาสวมรอยเช่า แต่เจ้าหน้าที่ DSI ชุดปฏิบัติการ ดันทำตัว “นอกคอก” เสียเอง เห็นเงินแล้วตาลุกวาว เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พวกจีนเทาอ้างไปหมด ปลอมได้ทุกอย่าง และพร้อมยอมจ่ายเต็มที่เพื่อหลุดรอดคดี อธิบดี DSI จึงไม่ทราบว่าลับหลังเจ้าหน้าที่ DSI ไปร่วมมือกับตำรวจ 191 ตีกินเสียอิ่ม โดยที่ท่านไม่รู้เรื่อง เหมือนส่งอ้อยเข้าปากช้างแท้ๆ

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีคนต่างชาติที่เข้าประเทศไทยโดยถือวีซ่านักท่องเที่ยว แต่กลับประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มในไทยว่า กรมได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายฉบับใด ของหน่วยงานใดบ้าง เช่น ผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กรมกำกับดูแลอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำลังเป็นกระแสข่าวขณะนี้ อย่างย่านเยาวราช

สำหรับการตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมจะตรวจสอบว่า กรณีคนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคล หากขายอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการอนุญาตก่อนหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ นิติบุคคลต่างด้าวจะขายอาหารและเครื่องดื่มได้ ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน หากไม่ขออนุญาตจะถือว่ามีความผิด

“การตรวจสอบกรณีนอมินี ไม่ง่าย   เพราะต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจน หรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพราง ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนต่างด้าว ซึ่งจะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน”

นายจิตรกรกล่าวต่อถึงกรณีคนไทยเป็นนอมินีของคนต่างด้าวว่า จากการตรวจสอบของกรม พบว่ามีนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์โดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน  ซึ่งหากพบกรณีที่อาจเข้าข่ายนอมินี กรมจะส่งหนังสือเชิญให้มาชี้แจง หากไม่สามารถชี้แจงได้ หรือชี้แจงไม่สมเหตุสมผล จะถือว่ามีความผิดตามฐานเป็นนอมินี ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และจะส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนในเชิงลึกถึงเส้นทางการเงินด้วย 

ทั้งนี้ กรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีเอสไอ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมที่ดิน ฯลฯ ตรวจสอบกรณีนอมินีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดีกับนิติบุคคล หรือคนไทยที่เป็นนอมินีแล้ว 66 ราย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง