ดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของไทย … สะท้อนความสามารถในการแข่งขันที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

จากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กับเดือน ม.ค.ซึ่งเป็นเดือนที่ค่าเฉลี่ยของเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นไปมากที่สุดในปีนี้แล้วพบว่า เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปกว่าร้อยละ 5.8 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกานับได้ว่าเป็นตลาดสินค้าส่งออกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึง ส.ค.ที่ผ่านมา รวมแล้วกว่า 9.9 พันล้านดอลลาร์ฯหรือคิดเป็นร้อยละ 15.8 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด การที่สินค้าส่งออกของประเทศไทยมีราคาถูกลงเมื่อเปรียบเทียบเป็นเงินดอลลาร์ฯ ย่อมจะส่งผลให้มีความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การที่จะวัดความสามารถในการส่งออกของไทยตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นนั้น ถือได้ว่ามีความแม่นยำในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงระหว่างเงินบาท และ เงินดอลลาร์สหรัฐฯเพียงสกุลเดียว อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าในประเทศกับประเทศคู่ค้า ซึ่งถือได้ว่ายังไม่สามารถที่จะชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านั้นถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งสินค้าออกของประเทศ โดยหากว่าระดับราคาในประเทศ(หรือ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ) สูงขึ้นกว่าประเทศคู่ค้าแล้ว ย่อมหมายถึงราคาของสินค้าส่งออกที่แพงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม หากระดับราคาในประเทศอยู่ต่ำกว่าของประเทศคู่ค้าแล้ว ย่อมหมายถึงราคาของสินค้าส่งออกที่ถูกลง และจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้าของประเทศให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นนั้น วิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การคำนวณหาดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate Index หรือ REER) ซึ่งเป็นการหาค่าเฉลี่ยของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้ารายอื่นๆในช่วงเวลานั้น โดยให้น้ำหนักไปตามสัดส่วนทางการค้าของแต่ละประเทศ แล้วปรับด้วยส่วนต่างของอัตราเงินเฟ้อระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้การให้น้ำหนักของค่าเงินแต่ละสกุลในการคำนวณดัชนีนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การให้น้ำหนักตามสัดส่วนการค้าเฉลี่ยของประเทศคู่ค้า (คำนวณจากการรวมมูลค่าของสินค้านำเข้า และส่งออกของไทยที่มีต่อประเทศนั้นๆ ต่อมูลค่าของสินค้านำเข้าและส่งออกของไทยที่มีต่อประเทศคู่ค้าทั้งหมด) ซึ่งวิธีการนี้จะเรียกว่า Trade-weighed Index ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนอีกวิธีการหนึ่ง ได้แก่ การให้น้ำหนักตามสัดส่วนของการส่งออกเฉลี่ยของไทยกับประเทศคู่ค้า (มูลค่าสินค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศนั้น ต่อมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด) ซึ่งเรียกว่า Export-weighed Index

ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เลือกที่จะถ่วงน้ำหนักการคำนวณดัชนีดังกล่าวด้วยมูลค่าการค้ารวม (Trade-weighed Index) เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่ครอบคลุมมากกว่าการใช้มูลค่าการส่งออกเป็นตัวถ่วงน้ำหนักเพียงตัวเดียว โดยค่าดัชนีที่คำนวณได้หลังจากการปรับด้วยน้ำหนักของค่าเงินแต่ละสกุลแล้วนั้น จะเรียกว่า ดัชนีค่าเงิน (Nominal Effective Exchange Rate หรือ NEER ) อย่างไรก็ตาม ในการที่จะทำให้ค่าที่ได้มาสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างแท้จริง โดยรวมถึงผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วยนั้น จะต้องปรับด้วยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคเปรียบเทียบ (Relative Consumer Price Index)ระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้า ซึ่งจะทำให้ได้ ค่าดัชนีราคาที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate)

สำหรับการที่จะใช้พิจารณาว่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริงในช่วงเวลาหนึ่งๆนั้นอ่อน หรือ แข็งเกินไป จะต้องนำค่าดัชนีที่คำนวณได้นั้นไปเปรียบเทียบกับปีฐาน ซึ่งมีค่าเท่ากับ 100 หากพบว่าค่าที่คำนวณได้นั้นมีค่าสูงกว่าค่าในปีฐาน จะถือว่าค่าเงินดังกล่าวแข็งค่าขึ้น (หรือ ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกได้ลดลง) ในทางตรงกันข้าม หากค่าที่คำนวณได้นั้นต่ำกว่าค่าในปีฐานแล้ว แสดงว่าค่าเงินได้อ่อนตัวลง (หรือ มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น)

นอกจากนั้นแล้ว ควรที่จะเปรียบเทียบตัวเลขดัชนีดังกล่าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศคู่แข่งซึ่งส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน หรือมีการส่งออกไปยังประเทศเดียวกันว่ามีการปรับตัวไปในทิศทางใด โดยหากดัชนี REER ของไทยอยู่ในระดับที่สูงขึ้นแล้ว ย่อมหมายถึงว่าค่าเงินของไทยนั้นได้แข็งค่าขึ้นกว่าค่าเงินของกลุ่มประเทศคู่แข่ง ซึ่งหมายถึงราคาสินค้าส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม หากว่าค่าดัชนี REER อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งแล้ว จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความได้เปรียบทางด้านการค้าที่มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนวณค่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ในรูปแบบ Trade-weighed Index โดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนรายวันนับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และได้กำหนดให้ปี 2546 เป็นปีฐาน เพื่อความสะดวกในการใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเทียบกับในปีที่ผ่านมา

– ดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของไทย (REER) นับตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงเดือน ส.ค. นั้น เคลื่อนไหวอย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยค่าดัชนีไม่ได้ผันผวนมากนัก ทั้งนี้ดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน เม.ย.โดยมีค่าเฉลี่ยในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 102.35 ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในเดือน เม.ย.เมื่อปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 3.9 แสดงถึงการที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเงินบาทได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งได้ส่งผลให้ค่าเงินเยน และ ค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนี REER ของไทยได้เริ่มปรับตัวลดลงนับตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา

อันเป็นผลมาจากการประกาศมาตรการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมทั้งจากการอ่อนตัวของค่าเงินเยนที่ถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งได้ทำให้มีการขายเงินบาท เพื่อไปถือครองดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ได้อยู่ที่ 98.95 ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 1.91 นอกจากนั้นแล้ว เมื่อนำค่าดัชนี REER รายวันที่คำนวณได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.มาทำการหาค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้นั้น พบว่าค่าที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนไม่มากนัก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100.88 หรือ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.75 จากค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2546

– ค่าดัชนี REER ของสหรัฐอเมริกาในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้นั้น ได้เคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีฐานโดยตลอดยกเว้นในเดือน พ.ค. และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าดัชนีของประเทศไทย และ ญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯได้อ่อนค่าลงไปเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึง พ.ค.ค่าดัชนี REER ของสหรัฐฯจะได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีในช่วง 5 เดือนแรกของปี ซึ่งบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และได้ทำให้เกิดการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีได้อ่อนตัวลงในช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. โดยได้รับแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ของตัวเลขยอดขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯในไตรมาสแรกของปี โดยมีค่าเฉลี่ยในเดือน ส.ค.อยู่ที่ 96.42 ในขณะที่จากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมานั้น พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 96.21 หรือ อ่อนตัวลงไปจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.06

– สำหรับดัชนี REER ของประเทศญี่ปุ่นนั้นเคลื่อนไหวค่อนข้างที่จะผันผวนมากกว่าดัชนีของประเทศไทย และ สหรัฐฯ โดยดัชนีได้แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในเดือน ม.ค. จากการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 104.23 หรือแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 4.41 จากค่าเฉลี่ยในเดือน ม.ค.ของปี 2546 อย่างไรก็ตาม การเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดแรงบวกของเงินเยนโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น ประกอบกับการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ทำให้เงินเยนเริ่มอ่อนตัวลง โดยได้อ่อนตัวลงไปมากที่สุดในเดือน พ.ค. โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 99.91 และแม้ว่าดัชนีค่าเงินของญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นอีกครั้งในเดือน มิ.ย.และ ก.ค.

แต่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็ได้เป็นปัจจัยที่กดดันการแข็งค่าขึ้นของเงินเยน โดยได้ชะลอการแข็งค่าขึ้นของดัชนีในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ค่าดัชนี REER ของญี่ปุ่นได้ปรับตัวไปอยู่ที่ 101.7 หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.73 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อนำดัชนีที่ได้มาทำการหาค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้แล้วพบว่า เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าเล็กน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 102.51 หรือ แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 3.90 จากในช่วงเดือน ม.ค.ถึง ส.ค.ของปีก่อน

การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินที่แท้จริงตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ส.ค. 2547

จากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของดัชนี REER ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ของประเทศไทย, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ พบว่า ค่าดัชนีของไทยมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น โดยต่างก็ได้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากในปีก่อน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างเงินบาท และเงินเยนได้อยู่ที่ 0.63 และเป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าดัชนีของประเทศสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยนั้น การที่ค่าดัชนี REER โดยเฉลี่ยได้ปรับตัวขึ้นเพียงร้อยละ 1.75 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา หมายความถึงการที่เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการแข็งค่าขึ้นของดัชนี REER ของประเทศไทยดังกล่าว ไม่น่าที่จะเป็นสาเหตุหลักของการขาดดุลการค้าของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยการขาดดุลการค้าน่าจะเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนตามวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุนในประเทศ สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น การที่ค่าเฉลี่ยของดัชนีในช่วง 8 เดือนแรกได้ปรับตัวขึ้นไปร้อยละ 3.90 ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงไปเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าดัชนีใน 8 เดือนแรกได้อ่อนค่าลงไปจากในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วร้อยละ 5.06 ซึ่งได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้อ่อนตัวลงไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า โดยสะท้อนถึงการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯในการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ

บทสรุป

เป็นที่ยอมรับกันว่า การที่จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้าของประเทศนั้น วิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้ได้แก่ การคำนวณหาดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate Index หรือ REER) โดยเป็นการหาค่าเฉลี่ยของอัตราแลกเปลี่ยนประเทศต่างๆที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญ และให้น้ำหนักไปตามสัดส่วนการค้าของแต่ละประเทศ แล้วปรับด้วยด้วยส่วนต่างของอัตราเงินเฟ้อระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การที่จะตัดสินว่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริงในช่วงเวลาหนึ่งๆนั้นอ่อน หรือ แข็งจนเกินไป จะต้องนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับปีฐาน ซึ่งกำหนดให้มีค่าเท่ากับ 100 หากพบว่าค่าที่คำนวณได้นั้นมีค่าสูงกว่าในปีฐาน จะถือว่าค่าเงินได้แข็งค่าขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากค่าที่คำนวณได้นั้นต่ำกว่าในปีฐานแล้ว แสดงว่าค่าเงินได้อ่อนตัวลง

นอกจากนั้นแล้ว ควรที่จะเปรียบเทียบตัวเลขดัชนี REER กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศคู่แข่งว่ามีการปรับตัวไปในทิศทางใด โดยหากดัชนี REER อยู่ในระดับที่สูงกว่าแล้ว ย่อมหมายถึงว่าค่าเงินของประเทศนั้นได้แข็งค่าขึ้นกว่าของค่าเงินกลุ่มประเทศคู่แข่ง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม หากว่าค่าดัชนี REER อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งแล้ว จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการคำนวณค่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนรายวันนับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และได้กำหนดให้ปี 2546 เป็นปีฐาน เพื่อความสะดวกในการใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเทียบกับในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสังเกตว่า ดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของไทยนับตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงเดือน ส.ค. นั้น เคลื่อนไหวอย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยค่าดัชนีไม่ได้ผันผวนมากนัก ทั้งนี้ในช่วงแรกดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน เม.ย. ซึ่งแสดงถึงการที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า โดยค่าเงินบาทได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งได้ส่งผลให้ค่าเงินเยน และ ค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ดัชนี REER ของไทยได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการประกาศมาตรการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมทั้งการอ่อนตัวของค่าเงินเยนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งได้ทำให้มีการขายเงินบาท เพื่อไปถือครองดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ได้อยู่ที่ 98.95 ซึ่งอ่อนค่าลงไปจากค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.91 จากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้นั้น พบว่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของไทยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากในปีก่อน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100.88 หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 จากค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

จากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของดัชนี REER ของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐฯซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่นั้น พบว่า ค่าดัชนีของไทยมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น โดยต่างก็ได้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากในปีก่อน ซึ่งมีค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างเงินบาท และเงินเยนในช่วงเดือน ม.ค.ถึง ส.ค.นั้นอยู่ที่ประมาณ 0.63 และการเป็นเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าดัชนีของสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยนั้น การที่ค่าดัชนีดังกล่าวได้ปรับตัวขึ้นเพียงร้อยละ 1.75 จากค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมายถึงการที่เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า ทำให้กล่าวได้ว่าความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกนั้นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการขาดดุลการค้าของไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่น่าที่จะเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มของดัชนี REER ของค่าเงินบาท แต่น่าจะเป็นผลมาจากแรงกดดันจากมูลค่าของการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนตามวัฏจักรการลงทุนในประเทศ ส่วนในกรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้น การที่ค่าเฉลี่ยของดัชนีในช่วง 8 เดือนแรกได้ปรับตัวขึ้นไปร้อยละ 3.9 ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงไปจากในปีก่อนเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าดัชนีได้อ่อนค่าลงไปจากในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วร้อยละ 5.06 ซึ่งได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้อ่อนตัวลงไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า โดยสะท้อนถึงการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯในการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ

อนึ่งแม้ว่าดัชนี REER ของค่าเงินบาทจะค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าปัญหาดุลการค้าของไทย และ การปรับขึ้นของราคาน้ำมันจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อดัชนีค่าเงินบาทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวของค่าเงินบาทโดยลำพังคงจะไม่สามารถแก้ปัญหาดุลการค้าได้ทั้งหมด หากการนำเข้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การประหยัดการใช้พลังงานยังคงเป็นมาตรการที่จำเป็น โดยจะช่วยรักษาฐานะดุลการค้าของประเทศ รวมทั้งยังเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาทด้วย