Environmental Sustainability

ใครมีหน้าที่ตรวจสอบโรงไฟฟ้าชีวมวล

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล แม้ว่าจะมีขั้นตอนกำหนดให้ต้องดำเนินการ ตามกระบวนการและกฎหมายต่าง ๆ อย่างเข้มงวด หรือ กว่าจะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้แต่ละแห่ง ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้า ได้เริ่มกระบวนการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ไม่ได้แปลว่าขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายจะสิ้นสุดลง

ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ายังจำเป็นต้องดูแล หรือควบคุมกระบวนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้โรงไฟฟ้าสร้างผลกระทบต่อสาธารณะ หรือ ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้า

ประมวลหลักปฏิบัติ CoP

โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนมากเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) แต่ใช้ ประมวลหลักปฏิบัติ CoP แทน

ดังนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงให้มีการจัดทำแนวทางในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับโรงไฟฟ้าที่ไม่ต้องจัดทำ EIA และ EHIA เพื่อให้มีแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีเครื่องมือสำคัญในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าที่ไม่เข้าข่ายที่ต้องทำรายงาน EIA และ EHIA มีดังนี้

1. โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ซึ่งมีการเผาไหม้เชื้อเพลิง ที่มีขนาดกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ขยะชุมชน หรือก๊าซชีวภาพ
2. โรงไฟฟ้าอื่น ที่ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงทุกขนาดกำลังการผลิต เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ

ประมวลหลักปฏิบัติ CoP

ประมวลหลักปฏิบัติ CoP กลไกการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าชีวมวล

การยื่นขอในอนุญาตดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้ประกอบการต้องยื่นรายละเอียดของโครงการทั้งหมด โรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เข้าข่ายการต้องดำเนินการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน ประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) อย่างเคร่งครัด

และให้เสนอ รายการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Checklist) พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

หากผู้ประกอบการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว ทาง กกพ. จะพิจารณาออกใบอนุญาต ซึ่งจะมีการจัดทำประมวลหลักปฏิบัติ CoP โดยจะกำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการนำไปใช้เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ใน ประมวลหลักปฏิบัติ CoP จะมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่ผู้ดำเนินโรงไฟฟ้าจะต้องปฏิบัติ โดยจะมีตั้งแต่มาตรการทั่วไป มาตรการสำหรับระยะเตรียมการก่อสร้าง มาตรการสำหรับระยะก่อสร้างโครงการ และมาตรการระยะดำเนินการโครงการ

ประมวลหลักปฏิบัติ CoP

การตรวจติดตามโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการ กล่าวคือ หลังจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว จะมีการตรวจติดตาม 2 รูปแบบ คือ

1. การตรวจติดตามประจำปี ซึ่งถ้าโรงไฟฟ้าบางแห่ง หรือบางประเภท ที่เชื้อเพลิงมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมาก เช่น โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น ก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบทุกปี

2. การตรวจติดตามประเภทเร่งด่วน เช่น โรงไฟฟ้าที่เกิดเหตุ หรือ โรงไฟฟ้าที่ชาวบ้านร้องเรียน ทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบในทันที

การตรวจติดตามการประกอบกิจการพลังงาน สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบ ได้แก่ อากาศ เสียง น้ำ กลิ่น การคมนาคมขนส่ง ขยะมูลฝอย และกากของเสีย โดยจะมีเครื่องมือสำหรับการตรวจวัดค่ามาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งเครื่องมือบางส่วน จะถูกกำหนดให้ติดตั้งที่โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง และเครื่องมือบางส่วน จะเป็นการตระเตรียมของเจ้าหน้าที่

โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบค่าต่าง ๆ ว่ามีค่าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ใน ประมวลหลักการปฏิบัติ CoP หรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ กกพ. จะมีการกำหนดมาตรการในประมวลหลักปฏิบัติไว้ เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่าผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าทำตามที่กำหนดไว้หรือไม่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ กกพ. อาจต้องให้ความรู้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต และให้จัดทำรายงานข้อมูลการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า เพื่อนำส่งเป็นรายงานประจำปีต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) เพื่อทำการตรวจสอบและประเมินว่าดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่

สำหรับขั้นตอนการตรวจติดตามและรายงานผล ทางเจ้าหน้าที่ กกพ. จะส่งรายงานการตรวจสอบพื้นที่ (Monitoring Reports) ให้กับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) โดยให้ความเห็นว่า ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าปฏิบัติครบถ้วนหรือไม่ และมีเรื่องที่ต้องกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว

อย่างไรก็ตามหลังจากมีการตรวจสอบแล้ว พบว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขการได้รับใบอนุญาต ทางเจ้าหน้าที่ กกพ. ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบ สามารถให้ความเห็นประกอบการพิจารณาคำสั่ง เพื่อออกคำสั่งตามกฎหมาย และอาจขอให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในใบอนุญาตก็ได้

นอกจากนี้ กกพ. ได้ออกประกาศ กกพ. ว่าด้วยมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแว้อมสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาต ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA/EHIA เพื่อใช้ดำเนินการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าชีวมวล

ทั้งนี้ใช้มาตรการเดียวกันสำหรับการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงชีวมวลทุกประเภทเชื้อเพลิง ทั้ง กากอ้อย ชิ้นไม้สับ แกลบ ใยปาล์ม กะลาปาล์ม และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยประมวลหลักปฏิบัติ ครอบคลุมมาตรการต่าง ๆ ในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ รวมถึงกรณีมีการรื้อถอนอาคาร

อำนาจตามคำสั่งทางปกครองของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

การเข้าไปตรวจติดตามการประกอบกิจการพลังงาน จะดำเนินการภายใต้ ฐานอำนาจการออกคำสั่งทางปกครองของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามมาตรา 50 และ มาตรา 51 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาต โดยกำหนดเงื่อนไข 15 ข้อ ที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย

1. สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม
2. มาตรฐานวิชาการ วิศวกรรม และความปลอดภัย
3. มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ
4. อัตราค่าบริการ
5. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
6. ประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน
7. ประเภทและชนิดเชื้อเพลิง
8. กระบวนการและเทคโนโลยี
9. การป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนพลังงาน
10. การแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด
11. โครงสร้างการถือหุ้น
12. การรับฟังความเห็น
13. มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม
14. มาตรการในรายงานด้านสิ่งแวดล้อม
15. การรายงานข้อมูล

ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต้องดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแต่ละข้อ โดย กกพ. มีอำนาจในการตรวจสอบ และสามารถสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

หากมีการตรวจสอบ พบว่า โรงไฟฟ้ามีค่าของเสีย หรือ มลพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากกระบวนการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามเงื่อนไข ทาง กกพ. มีอำนาจใช้คำสั่งทางการปกครอง ตามประกาศของ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1. กรณีที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาสั่งปรับปรุงแก้ไข ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 7 วัน หรือ 15 วัน ซึ่งการสั่งปรับปรุงในครั้งแรกนั้น โรงไฟฟ้ายังสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ควบคู่กับการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ

แต่หากปรับปรุงไม่เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด เพิกเฉย หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทาง กกพ. จะพิจารณาสั่งพักใช้ใบอนุญาต เพื่อหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า และหากดำเนินการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเสร็จสิ้นแล้ว ทางผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องมาแจ้งต่อ กกพ. เพื่อเข้าไปตรวจสอบ ก่อนเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า

2. กรณีก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยใช้มาตรการบังคับทางการปกครอง ตามมาตรา 128

ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณาถึงความร้ายแรง ในการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งประกอบด้วย หากเป็นกรณีแรก ผู้รับใบอนุญาตยังเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องและฝ่าฝืนคำสั่ง หรือกรณีที่มีความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ ให้ กกพ. มีอำนาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ แล้วแต่กรณี

ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ใช่แค่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในกระบวนการเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาเดินเครื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องใส่ใจ และดูแลกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลา เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้าสร้างปัญหาให้กับชุมชน ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในระยะยาว

แม้ว่ากฎหมายจะให้อำนาจ กกพ. ในการตรวจติดตามการประกอบกิจการพลังงาน หรือ ตรวจติดตามโรงไฟฟ้าหลังเดินเครื่องการผลิต ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม แต่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่เอง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ ที่จะร่วมตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง

หากพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือ ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ก็สามารถร้องเรียนไปยัง กกพ. หรือ คณะกรรมการระดับจังหวัดช่วยประสาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว หรือทันต่อเหตุการณ์ เรียกได้ว่า “ช่วยกันเป็นหูเป็นตา” ก็นับว่ามีส่วนร่วมดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสังคม ในพื้นที่อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ไร้ผลกระทบจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า ไปจนกว่าโรงไฟฟ้าจะสิ้นสุดอายุโครงการลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight