บรรณารักษ์ชวนอ่าน : โอดิสซี

โฮเมอร์ (๒๕๓๘). โอดิสซี. แปลจาก Odyssey. โดย สุริยฉัตร ชัยมงคล. กรุงเทพ : ศยาม.

เลขหมู่ : PA4032 ฮ286อ 2538

ถ้าอ่าน “อีเลียด” แล้ว ก็ต้องอ่าน “โอดิสซี” ด้วยเพื่อให้ครบรส

มหากาพย์ทั้งสองเรื่องเขียนขึ้นโดย โฮเมอร์ กวีชาวกรีกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว นักประวัติศาสตร์บางสำนักเชื่อว่า โฮเมอร์ นั้นไม่มีตัวตนจริงด้วยซ้ำ และบางสำนักก็เชื่อว่า โฮเมอร์ ไม่ได้แต่งขึ้นเองทั้งหมด แต่มีการปรับเปลี่ยนต่อเติมเรื่อยมา

ท่านที่ยังสงสัยว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรหว่า พอบอกว่าเป็นวรรณกรรมของกรีกก็คงอ่านยากแน่ๆ บรรณารักษ์ขอบอกว่าไม่ใช่เลย แถมยังอ่านสนุกเสียด้วย บอกชื่อ อีเลียด กับ โอดิสซี แล้วอาจจะยังไม่รู้จัก แต่บอกว่าเป็นเรื่อง สงครามกรุงทรอย ก็คงจะร้องอ๋อกันบ้าง เพราะคนรุ่นหลังน่าจะรู้จักมหากาพย์เรื่องนี้จากภาพยนตร์ฮอลิวู้ดเรื่อง Troy

สงครามกรุงทรอยนั้นเป็นเรื่องราวการรบกันระหว่างพวกกรีกกับทรอย โดยมีประเด็นหลักเป็นศึกชิงนาง เมื่อปารีส เจ้าชายแห่งทรอย ดันทะลึ่งไปชิงเอา เฮเลน มเหสีของ เมเนเลอัส มาเป็นภรรยา ฝ่ายกรีกและพันธมิตรจึงรวมตัวกันบุกกรุงทรอยหวังจะล้างอาย โดยมีบรรดาทวยเทพถือหางทั้งสองฝ่าย เรื่องราวสลับซับซ้อนแต่ก็สนุกสนาน เพราะทุกตัวละครล้วนมีความสำคัญและมีปูมหลังที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าตัวละครทุกตัวสามารถแยกย่อยออกมาเขียนต่อได้เป็นเล่มๆ

ที่ว่ามานั้นคือส่วนของ มหากาพย์อีเลียด แต่ โอดิสซี ที่บรรณารักษ์แนะนำนี้เป็นภาคต่อภายหลังเสร็จสิ้นสงครามกรุงทรอยแล้ว โดยเล่าถึงการผจญภัยเพื่อเดินทางกลับบ้านของ ยูลิซีส หนึ่งในวีรบุรุษของสงครามกรุงทรอย โดยกว่าที่เขาจะกลับสู่แผ่นดินเกิดได้ก็ต้องใช้เวลานานถึงสิบปี

ยูลิซีส เป็นหนึ่งในพันธมิตรของกองทัพกรีกที่บุกเข้าตีกรุงทรอย หากจะว่ากันตามจริงบรรณารักษ์เชื่อว่าเหตุผลแห่งสงครามคงไม่ใช่เพราะศึกชิงนางที่ดูเป็นเรื่องขี้ประติ๋วแบบนั้นแน่ หากแต่เพราะกรีกต้องการจะยึดเอากรุงทรอยมากกว่า เนื่องด้วยเป็นเมืองท่าที่สำคัญและอุดสมบูรณ์ แล้วมันก็เป็นนโยบายหลักในการขยายอาณาเขตและบารมีของ อกาเมมนอน ราชาผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกนั่นด้วย ดังนั้นเขาจึงรวบรวมพันธมิตรหมายพิชิตทรอยโดยยกเอาเรื่องการชิงตัว เฮเลน น้องสะใภ้มาเป็นข้ออ้าง

แม้ฝ่ายกรีกจะมียอดขุนพลอย่าง อคิลิส แต่ก็ไม่อาจบุกเข้ายึดทรอยได้ง่ายๆ ขณะที่ทำท่าจะถอดใจแล้วนั่นเอง ยูลิซิส ก็ออกอุบายที่เป็นที่จดจำของคนทั้งโลกได้ นั่นคือ กลศึกม้าไม้ ทำให้สุดท้ายเป็นฝ่ายกรีกที่ได้ชัย กรุงทรอยที่ว่ากันว่าไม่มีใครตีแตกก็ต้องพังทลายลง หลังเสร็จศึก ยูลิซิส พร้อมกองทัพก็เดินทางกลับบ้านที่นครอธิกะ จนกลายเป็นเรื่องราวผจญภัยในมหากาพย์โอดิสซีเล่มนี้ อาจเป็นเพราะผลกรรมที่เขาได้สร้างความหายนะไว้กับกรุงทรอย จึงทำให้เขาต้องเร่ร่อนพเนจรนานอยู่ถึงสิบปีกว่าจะถึงบ้าน ผ่านพบเรื่องราวที่แทบเอาตัวไม่รอด ที่เราคุ้นๆ กันก็เรื่องของ คาลิพโซ่ นางอัปสรแห่งท้องทะเลที่ปรารถนาจะอยู่กินกับยูลิซิส โดยนางจะมอบพรให้เขาเป็นหนุ่มชั่วนิรันดร์ หรือเรื่องของ ไซคลอพส์ ยักษ์ตาเดียว ที่จับเขาและพรรคพวกเพื่อกินเป็นอาหาร

การผจญภัยอันเลวร้ายส่วนหนึ่งนั้นมาจากฝีมือของทวยเทพที่เข้าข้างฝ่ายทรอยผู้แพ้สงคราม ก็เลยมาเอาคืนกับเขา แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา โดยมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือกลับบ้านไปพบหน้าลูกเมีย ครั้งหนึ่งเรือของเขาถูกพายุกระหน่ำด้วยฝีมือของเทพโพเซดอน นางไอโน ภูติแห่งท้องทะเลสงเคราะห์ว่าให้เขาสละเรือเสียเพื่อโพเซดอนจะได้พอใจแล้วค่อยว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แต่เขายังยืนยันที่จะไม่สละเรือ ตราบใดที่ยังไม่ถึงที่สุด

โอดิสซี เล่มนี้บรรณารักษ์แนะนำให้อ่านเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่อ่านสนุก และเป็นวรรณกรรมอมตะ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยใช้กลวิธีที่เหมือนนิยาย มีบทบรรยายและบทสนทนา บางท่านอาจจะนึกไม่ถึงว่าเป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน ความจริงวรรณกรรมเอกชิ้นนี้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้วหลายท่าน ซึ่งมีกลวิธีการเขียนที่แตกต่างกันไป แต่หากจะอ่านแบบสบายๆ เข้าใจง่าย บรรณารักษ์ก็แนะนำผลงานเวอร์ชั่นนี้ละกัน

———————————————————————————————————————————-

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน, แนะนำหนังสือ and tagged , , , . Bookmark the permalink.

2 Responses to บรรณารักษ์ชวนอ่าน : โอดิสซี

  1. darunee says:

    หนังสือเล่มนี้หาอ่านได้ที่ไหนค่ะ

    • stanglib says:

      ถ้าคุณ darunee เป็นชาว มหิดลล่ะก็ ที่ห้องสมุดสตางค์ของเรามีให้อ่านกันครับ

      แต่ถ้าสนใจล่ะก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปครับ เรื่อง โอดิสซี มีหลายท่านแปลเป็นไทยไว้นะครับ หรือถ้ามองหาตามห้องสมุดทั่วไปก็น่าจะมีให้ยืมนะครับ

Leave a comment