บรรณารักษ์ชวนอ่าน : ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข

ห้องสมุดของเรามีทั้งหนังสือและวารสารวิชาการมากมายเพื่อให้บริการแก่ทุกท่านที่ใฝ่ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ แต่เราก็เชื่อว่านอกเหนือจากตำราวิชาการแล้ว เรายังสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากหนังสือประเภทอื่นๆ อีกด้วย ประกอบกับการที่ประเทศเราพยายามส่งเสริมให้ผู้คนอ่านหนังสือกันให้มากขึ้น ให้สมกับที่กรุงเทพ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น เมืองหนังสือโลก ปี ๒๕๕๖ บรรณารักษ์จึงคิดว่าน่าจะมีช่องทางแนะนำและช่วยคัดเลือกหนังสือดีๆ ที่มีอยู่มากมายในห้องสมุดให้แก่ทุกท่านเลือกอ่านกัน

ฮอฟฟ์แมน, พอล. (2547). ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข. แปลจาก The Man Who Loved Only Numbers. โดย นรา สุภัคโรจน์. กรุงเทพฯ : มติชน.

เลขหมู่ : QA29.E68 ฮ159ผ 2547

พอล แอร์ดิช ชอบใช้คำว่า “จากไป” แทนคำว่า “ตาย” เพราะเขาคิดว่านักคณิตศาสตร์เมื่อหยุดคิดก็คือตาย ดังนั้นถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็อย่าหยุดคิด อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะนักคณิตศาสตร์หรอกครับ จะนักอะไรก็ตามแต่ก็เช่นกัน และไม่ใช่เฉพาะหยุดคิดเท่านั้น แต่หมายถึงหยุดทำในสิ่งที่ดีๆ และเป็นประโยชน์ ขืนอยู่เฉยๆ รอให้หมดอายุขัย มันก็จะต่างอะไรจากการตายนั่นเอง

แนวคิดตกขอบแบบนี้มีอีกมากมายสำหรับ “พอล แอร์ดิช” ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ ตีโจทย์ยากๆ แตกมานับไม่ถ้วน คิดค้นทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนับพันเรื่อง ได้รับรางวัลเกียรติยศจากทั่วโลก แต่เรื่องการใช้ชีวิตแบบคนปกตินั้น แอร์ดิชทำไม่เป็น!

ถ้าใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Mind ที่ว่าด้วยชีวิตของ จอห์น แนช เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่ใช้ชีวิตแบบแปลกๆ อันนั้นเป็นเพราะอาการป่วย แต่คำจำกัดความของ จอห์น แนช คงมาใช้กับ พอล แอร์ดิช ไม่ได้ เพราะเขามีเหตุผล (ในแบบของเขาเอง) ที่ทำให้เป็นอย่างนี้

ที่บรรณารักษ์ว่ามาทั้งหมดนี้ ท่านสามารถหยิบมาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง “ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข” มีให้ยืมอ่านที่ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ ที่บรรณารักษ์หยิบยกเอาเรื่องนี้มานำเสนอ เพราะเห็นว่านี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักอ่านที่เรียนวิทยาศาสตร์ได้กระตือรือร้นที่จะศึกษาค้นคว้า และใช้ชีวิตในแต่ละช่วงนาทีให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเล่าประวัติชีวิตของ พอล แอร์ดิช อ่านง่าย กลวิธีการเล่าเรื่องเหมือนกำลังจับกลุ่มล้อมวงคุยถึงเพื่อนเก่าซักคน ท่านอาจจะสะเทือนใจไปกับบางช่วงชีวิตของเขา ตะลึงไปกับการแก้โจทย์เลขยากๆ อึ้งไปกับพฤติกรรมแปลกๆ และเชื่อว่าท่าจะประทับใจเมื่ออ่านจบหน้าสุดท้าย และหากท่านมีความรู้ทางคณิตศาสตร์พอสมควร บรรณารักษ์เชื่อว่าจะอ่านสนุกและเพลินปกับทฤษฎีของเขาแน่นอน

พอล แอร์ดิช เป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับการไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ แม้เขาจะได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะ แต่กลับใช้ชีวิตแบบที่คนทั่วไปไม่ทำกับ เขาเดินทางไปไหนมาไหนด้วยถุงพลาสติกใบเขื่อง เงินทองไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเขา เป็นเรื่องปกติที่เขาจะไปเคาะประตูบ้านเพื่อนซักคน ขออาศัยอยู่ด้วย แล้วก็ทำงานวิจัยซักชิ้น พองานเสร็จเขาก็จะจากไปหาเพื่อนอีกคนเพื่อทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะมองว่าหมอนี่มาแปลก สงสัยจะหาเรื่องมาอยู่ฟรี แต่บรรณารักษ์เชื่อว่าเพื่อนๆ ของเขาต้องดีใจและยินดีต้อนรับ เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่อัจฉริยะจะมาหาถึงบ้านเพื่อทำงานวิจัยร่วมกัน

นอกจากการแวะไปอยู่ตามบ้านเพื่อนฝูงแล้ว แอร์ดิช ยังมีปัญหาในการใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป อะไรที่ไม่ใช่คณิตศาสตร์เขาก็แทบจะไม่ใส่ใจเลย

เขาสงสัยว่าข้าวสวยในชามมันคืออะไร และทำอย่างไรมันถึงจะสุก! เขาผูกเชือกรองเท้าเป็นครั้งแรกเมื่ออายุสิบเอ็ด! เขาทาเนยบนขนมปังเองครั้งแรกเมื่ออายุยิ่สิบเอ็ด! เขาใช้มีดด้านทื่อพยายามหั่นเกรฟฟรุต! และเขากินน้ำมะเขือเทศด้วยการเจาะเป็นรูตรงกลางกล่อง!

“เสื้อผ้าทั้งหมดของเขาสามารถบรรจุได้ในกระเป๋าเดินทางใบเล็กที่เขานำติดตัวไปไหนต่อไหนทั่วโลก และยังมีที่เหลือพอใส่วิทยุโบราณเครื่องเท่าบ้าน เขามีเสื้อผ้าน้อยมาก จนเจ้าของบ้านที่เขาไปอยู่ด้วยต้องซักถุงเท้าและชุดชั้นในให้อาทิตย์ละหลายครั้ง … นักสังคมนิยมฝรั่งเศสคนหนึ่งบอกว่า ทรัพย์สินส่วนตัวคือสิ่งที่ขโมยมา แอร์ดิชว่า แต่ฉันว่าทรัพย์สินส่วนตัวคือสิ่งที่เกะกะกวนใจที่สุด”

แม้ แอร์ดิช จะไม่ใส่ใจเงินทองและดูเป็นคนแปลก แต่เขาก็ไม่ได้เพี้ยน เขายินดีให้ เกล็น วิทนี่ย์ นักศึกษาที่ต้องการเรียนต่อด้านคณติศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ดแต่ขาดทุนทรัพย์ยืมเงินถึง ๑,๐๐๐ เหรียญ หลังจากที่แน่ใจแล้วว่าเด็กคนนี้มีแววด้านคณิตศาสตร์ สิบปีต่อมาเมื่อ วิทนี่ย์ มีเงินมากพอที่จะจ่ายคืนเขาแล้วพร้อมดอกเบี้ย เขากลับบอกว่า ให้เธอทำกับเงินหนึ่งพันเหรียญนั่นเหมือนกับที่ฉันเคยทำกับเธอ

เมื่ออายุมากขึ้น แอร์ดิช เริ่มมีปัญหาด้านสายตา จนในที่สุดเขาจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนแก้วตาโดยด่วน แต่สำหรับแอร์ดิชแล้วมันช่างยุ่งยากและเสียเวลาเหลือเกิน จนเพื่อนฝูงต้องหาทางลัดคิวให้เขาได้เข้ารับการผ่าตัด แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ยอมยกเลิกเล็คเชอร์เพื่อจะไปผ่าตัด จนต้องเสียเวลากล่อมอยู่นาน พอถึงมือหมอก็ยังไม่วายป่วนหมออีก โดยขณะที่กำลังจะลงมือเขาก็ซักหมอว่า เขาจะอ่านหนังสือได้ไหม หมอบอกว่าได้สิและเริ่มหรี่ไฟเพื่อจะลงมือ เขาก็เอะอะว่า ไหนหมอบอกว่าเขาจะอ่านหนังสือได้ไง เขาตาเสียแค่ข้างเดียว ดังนั้นเขาจะอ่านหนังสือด้วยตาอีกข้าง … เอากะพ่อสิ

บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้คือ ดร. พิเชษฐ กิจธารา จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ของเรานี่เอง ท่านเขียนถึง รหัสแอร์ดิช (Erdos Number) ไว้ในบทนำ เจ้ารหัสแอร์ดิชนี้คิดค้นโดยเพื่อนๆ ของแอร์ดิชเอง เนื่องจากเขาตีพิมพ์ผลงานเยอะมาก และมีผู้วิจัยร่วมด้วยมากมาย ตัวเขาเองจึงเริ่มต้นที่หมายเลข ๐ ใครที่ทำงานวิจัยร่วมกับเขาก็จะได้หมายเลข ๑ ส่วนใครที่ทำงานวิจัยร่วมกับหมายเลข ๑ ก็จะได้หมายเลข ๒ ไล่เรียงไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่าผลงานของเขานั้นมีผลต่อวงการคณิตศาสตร์มากมายเพียงใด

หนังสือ “ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข” เล่มนี้อ่านสนุกจริงๆ แม้จะไม่มีความรู้เรื่องทฤษฎีคณิตศาสตร์ก็อ่านเข้าใจได้ บรรณารักษ์เชื่อว่าชีวิตของ แอร์ดิช น่าจะเป็นคติสอนใจและเป็นแรงผลักให้ท่านผู้อ่านมองเห็นคุณค่าของการมีชีวิต เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและสังคม แต่ก็ย้ำว่าท่านอาจไม่ต้องใช้ชีวิตแปลกๆ แบบเขาก็ได้นะ

———————————————————————————————————————————-

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน, แนะนำหนังสือ and tagged , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment