อ่านเถิดจะเกิดผล: ขโมยอ่านก็ยอม

บรรดานักเขียนนักประพันธ์ทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนมีอุปนิสัยที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ หาได้น้อยนักที่คนเขียนหนังสือเก่งๆ ที่จะไม่ชอบอ่านหนังสือ อาจสรุปได้ว่าที่พวกเขาเขียนเก่งเพราะเขาอ่านมาก เห็นจะไม่ผิด

ในสมัยก่อนการเรียนในโรงเรียนค่อนข้างจะเข้มงวดและยังสอนแบบให้นักเรียนท่องจำ เชื่อฟังครูอย่างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและใช้จินตนาการมากนัก แต่ก็ยังคงมีโรงเรียนบางแห่งที่มีแนวคิดค่อนข้างทันสมัยคือเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดเองอย่างเต็มที่ แต่ก็นับได้ว่ามีน้อยเต็มทน

จึงนับเป็นโชคดีของเด็กชายคนหนึ่งที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนแบบที่ว่านี้ คือโรงเรียน Huntley House เพราะพ่อของเขาเป็นครูใหญ่ที่นี่ เด็กน้อยเริ่มอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ยังเล็ก เนื่องจากนั่งฟังพ่อของเขาสอนหนังสือให้พี่ๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้ได้เปิดจินตนาการให้เด็กๆ อย่างเต็มที่ ไม่มีการลงโทษ ครูทุกคนเข้าใจธรรมชาติของเด็กๆ

เด็กชายได้นิสัยรักการอ่านมาจากพ่อและแม่ซึ่งเป็นครูเหมือนกัน โดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชนที่เด็กชายชื่นชอบเป็นพิเศษ

เมื่อโตขึ้นเด็กชายเริ่มฉายแววความสามารถทางคณิตศาสตร์ เขาอาจจะเติบโตเป็นนักคณิตศาสตร์ที่โด่งดังได้ในอนาคต แต่เมื่อเขาได้พบกับ H.G Wells นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงก้องโลกจากผลงาน The Time Machine และ The War of the Worlds เขาจึงเริ่มหันมาสนใจการเขียนหนังสือแทน

เขาอ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะวรรณกรรม ที่ห้องสมุดของโรงเรียนมีกฎว่าอนุญาตให้นักเรียนอ่านหนังสือได้ภายในห้องสมุดเท่านั้น แต่ห้ามไม่ให้ยืมกลับบ้าน (อาจเป็นเพราะหนังสือในสมัยก่อนมีราคาแพงและเป็นของหายาก) แต่เด็กชายก็อดใจไม่ไหวที่จะอ่าน เขาจึงแอบขโมยหนังสือใส่เสื้อโค้ตออกมาในวันศุกร์ เพื่อที่จะได้อ่านในวันหยุดแล้วค่อยนำไปคืนในเช้าวันจันทร์

จนเมื่อโตขึ้นเป็นนักประพันธ์แล้ว เขาจึงใช้จินตนาการและความสามารถเชิงวรรณศิลป์ เขียนวรรณกรรมเยาวชนที่กลายเป็นตำนานที่มีคนชื่นชอบไปทั่วโลก โดยนำชื่อของหมีที่ประเทศแคนาดามอบให้ประเทศอังกฤษเพื่อเป็นที่ระลึกในการร่วมรบในสงครามโลกที่ชื่อ วินนี่ มาเป็นชื่อตัวละครเอกในหนังสือของเขา นั่นคือ “วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie-the-Pooh) ส่วนคำว่า Pooh นั้นเป็นชื่อของหงส์จากบทกวีบทหนึ่ง (เห็นไหมว่ายังเอาชื่อมาจากหนังสือเลย)

ชายเจ้าของบทประพันธ์ชิ้นเอกนี้ชื่อว่า
อลัน อเล็กซานเดอร์ ไมลน์ (A.A.Miline ๑๘๘๒-๑๙๕๖)

NPG x19561; A.A. Milne by Howard Coster————————————————————————————————————————————
อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in อ่านเถิดจะเกิดผล and tagged , , , , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment