บรรณารักษ์ชวนอ่าน : นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา

พระพรหมคุณาภรณ์ ‪(ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (๒๕๕๔). นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา. กรุงเทพฯ : เจริญดีมั่นคงการพิมพ์.
เลขหมู่ : BQ5395 พ349น 2554

(บทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงทัศนะของบรรณารักษ์ผู้เขียน โปรดพิจารณาก่อนตัดสินใจใดๆ)

แค่ชื่อหนังสืออก็สอนอะไรเราได้มากมายแล้วครับ … นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของปราชญ์ด้านพุทธศาสนาคนสำคัญของประเทศอย่าง พระพรหมคุณาภรณ์ ‪(ป. อ. ปยุตฺโต) เนื้อหาข้างในนั้นหากมองแค่ภายนอกอาจจะเห็นเป็นหนังสือธรรมะธรรมดาๆ เล่มหนึ่ง แต่ความจริงแล้วนี่เป็นหนังสือธรรมะที่ไม่ธรรมดา

เล่าให้ฟังอย่างบ้านๆ ส่วนหนึ่งของปฐมเหตุในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ มาจากบทความชิ้นหนึ่งที่กล่าวพาดพิงโดยตรงถึงผลงานชิ้นหนึ่งของท่านเจ้าคุณคือ “พระไตรปิฎก : สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้” ประกอบกับความต้องการในการให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งหลายเป็นทุนเดิม ท่านเจ้าคุณจึงได้อรรถาธิบายเรื่องราวทั้งหมดเพื่อชี้แจงถึงข้อเขียนในบทความที่อ้างไว้ข้างต้น ซึ่งบทความชิ้นนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่มุมของผลงานและตัวท่านเจ้าคุณเอง หากจะว่ากันง่ายๆ ถ้าจะเรียกว่าเป็นงานแก้ต่างก็คงจะไม่ผิดนัก

แต่ถ้าพิจารณาอย่างผู้มีปัญญา บรรณารักษ์เห็นว่าความคิดต่างเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องผิด (คนไทยในยุคนี้น่าจะคุ้นเคยกันดี) แต่การที่นำความคิดต่างมาประยุกต์อย่างสร้างสรรค์นั่นคงจะดีไม่น้อย หากตัดแง่มุมที่สร้างความรู้สึกว่ากำลังแก้ต่างสิ่งที่ถูกพาดพิง ซึ่งปุถุชนอย่างบรรณารักษ์เองหรือท่านที่ได้อ่านก็น่าจะรู้สึกได้เช่นกัน แล้วมองในส่วนที่เป็นข้อมูลหรือคำสอนจากครูบาอาจารย์ (คือท่านเจ้าคุณเอง) ก็สะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมไทยที่เป็นอยู่จริงๆ ในแวดวงวิชาการหรือบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิชาการ

“เวลานี้ในสังคมไทย มีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลกันมากว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ และก็มีนักวิชาการหลายคนเข้าร่วมวงหรือเหมือนกับเพลินไปในกระแสนี้ด้วย แง่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความหย่อนยานและประมาทในด้านข้อมูลข้อเท็จจริง มีมากที่เอาแต่คิด โดยไม่มีความรู้ พอได้ข้อมูลนิดหน่อย ไม่ค้นหาตรวจสอบให้แน่ชัด ก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวไป แล้วก็พูดก็เขียนออกทางสื่อมวลชน ตัวเองเข้าใจผิดแล้วไม่พอ ยังพาผู้คนในสังคมไขว้เขวเตลิดไปด้วย”

เป็นอย่างไรล่ะครับ ท่านรู้สึกว่าบ้านเราเป็นแบบนี้จริงๆ หรือไม่ ความจริงอาจจะไม่ใช่เฉพาะคนไทยหรอกครับ ไม่ว่าใครๆ ก็มักจะเชื่อโดยคิดกันเอง จึงมีวลีที่ว่า “เขาบอกว่า … ” แล้วเขาคือใคร เขาเป็นใคร รู้จริงไหม ได้ข้อมูลมาจากไหน ฯลฯ แต่คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ทันคิด ยิ่งในยุคนี้สมัยนี้ที่ข้อมูส่วนมากมาจากสื่อมวลชน รวมไปทั้งสื่ออื่นๆ อีกมากมาย ผู้คนในยุคนี้สามารถเป็นผู้ถ่ายทอดสื่อได้อย่างอิสระด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย บางครั้งคำพูดไม่กี่ประโยคที่แพร่ออกไปอย่างไม่รอบคอบก็ส่งผลไปในวงกว้างตามที่เห็นอยู่กันบ่อยๆ แต่ถ้าคนนั้นเป็นคนที่ถูกเรียกหรือเรียกตัวเองว่าเป็นนักวิชาการ ความคลาดเคลื่อนทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะส่งผลใหญ่โตขนาดไหนลองนึกดู

ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ (ขอย้ำว่าถ้าตัดความรู้สึกแง่ลบออกไปนะครับ) คือการพยายามกระตุ้นไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการ แต่หมายรวมถึงทุกๆ คน ให้ตระหนักถึงความรู้จริง ต้องรู้อย่างมีสติ และศึกษาหาข้อมูลให้ถ่องแท้ ท่านเจ้าคุณผู้เขียนก็ได้แสดงให้เป็นตัวอย่างจากข้อมูลและหลักฐานที่ท่านยกมาประกอบ ตรงนี้ทำให้บรรณารักษ์นึกถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อพิสูจน์องค์ความรู้ พิสูจน์สมมติฐาน เพื่อแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าความจริงคืออะไร แต่น่าเสียดายที่ความรู้บางอย่างโดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ที่แม้จะมีกระบวนการวิจัยก็ตามแต่ไม่สามารถพิสูจน์ทุกสิ่งให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ความรู้หรือความเชื่อบางอย่างจึงควรพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีสติ

หลังจากหนังสือเล่มนี้ได้เผยแพร่ออกไป ก็มีนักวิชาการ (ทั้งอาชีพและสมัครเล่น) หยิบยกมากล่าวถึง มีงานเขียนที่เขียนขึ้นมาในเชิงตอบโต้เช่นกัน แต่บรรณารักษ์ชื่นชมทั้งท่านเจ้าคุณและฝ่ายที่ตอบโต้ ว่าได้ใช้สติและปัญญาในการแสดงอรรถาธิบาย ชี้แจงเรื่องราวโดยอาศัยข้อมูลความรู้เป็นเครื่องมือ โดยมิได้ใช้ทิฐิเป็นที่ตั้ง สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่สังคมไทยในยุคนี้น่าจะดูเป็นตัวอย่างเสียจริงๆ ว่านี่แหละคือการกระทำของผู้มีปัญญา

สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อคือหนังสือเล่มนี้ที่หนากว่า ๓๐๐ หน้า เกิดจาก “คำ” เพียงคำเดียว (ต้องหามาอ่านครับจะได้รู้ว่าคือคำใด) ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกัน ทั้งที่จะข้ามเลยไปเสียก็ได้ถ้าจะมองว่ามันก็แค่แง่มุมของกลวิธีของการใช้ภาษาเท่านั้น ท้ายเล่มยังมีภาคผนวกที่เขียนโดย อาจารย์สมศีล ฌานวังศะ ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ เพิ่มเติมความรู้และแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจประกอบด้วย

ท่านที่สนใจก็ลองหามาอ่านได้ครับ ที่ห้องสมุดสตางค์ หรือห้องสมุดในมหิดล ก็มีให้ยืมอ่านได้ อ่านเถอะครับอย่าเพิ่งเชื่อคำวิจารณ์อันเป็นทัศนะของบรรณารักษ์เพียงคนเดียว เพราะเรา “ต้องรู้ให้แน่ อย่าใช่แค่คิดเอา”

———————————————————————————————————————————-

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน, แนะนำหนังสือ and tagged , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment