บรรณารักษ์ชวนอ่าน : ถึงเวลาบินปร๋อ ยี่ห้อไทยๆ

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย. (๒๕๔๗). ถึงเวลาบินปร๋อ ยี่ห้อไทยๆ. กรุงเทพ : ดีเอ็มจี.
เลขหมู่ :HF5386 ด123ถ 2547

วันนี้บรรณารักษ์มีหนังสือเกี่ยวกับการตลาดมาให้อ่านกัน .. พอบอกว่าเป็นการตลาด หลายคนอาจเบ้หน้าว่าคงน่าเบื่อแน่ๆ คงมีทฤษฎีโน่นนี่ปวดหัวจะตาย แต่บรรณารักษ์คิดว่าการตลาดไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อนะครับ มันเป็นเรื่องที่แสนจะใกล้ตัวเรามากๆ ยิ่งถ้าได้คนเขียนที่มีฝีมือ มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ หนังสือการตลาดจะน่าอ่านมากทีเดียวเชียว

มีกูรูเคยอธิบายไว้ว่า วิชาการตลาดก็คือวิชาที่ว่าด้วยมนุษย์นั่นเอง ซึ่งก็จริงนะครับ เพราะมันก็คือวิธีการต่างๆ ที่ต้องเจาะเข้าถึงผู้บริโภคซึ่งก็คือเราๆ ท่านๆ นี่แหละ ว่าเราชอบสิง่ไหน เกลียดสิ่งไหน มีแนวโน้มเป็นอย่างไร หนังสือการตลาดในยุคหลังๆ จึงพยายามเขียนให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจง่ายแล้วอะไรจะเข้าใจง่ายเท่ากับการยกตัวอย่างมาประกอบล่ะครับ

“ถึงเวลาบินปร๋อ ยี่ห้อไทยๆ” คือหนังสือการตลาดที่ยกเอาตัวอย่างแบรนด์ดังๆ ในบ้านเราที่ประสบความสำเร็จมาเป็นกรณีศึกษาว่าอะไรที่ทำให้พวกเขายิ่งใหญ่ได้จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนนั้นคุ้นชื่อมากๆ ในวงการการตลาดและการประชาสัมพันธ์ คือ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ท่านเคยแวะมาเป็นแขกรับ

เชิญให้กับคณะวิทยาศาสตร์ ในงาน มหิดล-พญาไท บุ๊คแฟร์ ด้วยนะครับ เนื้อหาในเล่มก็เล่าถึงที่มาที่ไป กลวิธีในการสร้างแบรนด์จนประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกแบรนด์ล้วนเป็นของคนไทยทั้งสิ้น อ่านเพลินทีเดียวครับ ซึ่งบางเรื่องบางมุมอาจเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำ

เนื้อหาข้างในแบ่งออกเป็น ๑๖ บท มีการยกตัวอย่างแบรนด์ดังๆ ๑๓ แบรนด์ บางชื่อเราอาจไม่รู้มาก่อนว่าเป็นของคนไทยนะครับ แต่ละตอนคุณดนัยก็เล่าถึงต้นกำเนิดของสินค้านั้นๆ ว่าเป็นมาอย่างไร เจ้าของแบรนด์เขาต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้างกว่าจะมาเป็นที่รู้จักทุกวันนี้ ซึ่งหากจะว่าไปมันก็คือทฤษฎีการตลาดที่น่าเบื่อนั่นแหละครับ แต่พอมีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพและสำนวนการเขียนที่ไหลลื่น มันยิ่งทำให้เราเข้าใจง่ายและชวนติดตามว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร

– “เอ็มเคสุกี้” เริ่มต้นจากร้านอาหารตามสั่งที่สนามสแควร์ซอย ๓ 
– คนที่คิดสโลแกน “มาม่า…อร่อย” คืออากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บิ๊กบอสค่ายแกรมมี่
– “ซัยโจ เด็นกิ” เป็นเครื่องปรับอากาศสัญชาติไทย
– “กระทิงแดง” ที่ขายในเมืองไทยกับที่อเมริการสชาติไม่เหมือนกัน
– “พิซซ่า คอมปะนี” แยกตัวมาจาก “พิซซ่า ฮัท”

ทุกแบรนด์ต่างมีจุดเริ่มที่แตกต่างกันออกไปครับ บางแบรนด์เริ่มต้นจากศูนย์ บางแบรนด์แตกหน่อออกมาจากแบรนด์แม่จากต่างประเทศ หรือบางแบรนด์เริ่มต้นจากความขัดแย้ง แต่ทุกแบรนด์ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งมั่นในความสำเร็จ แม้ว่าบางครั้งจะต้องฝ่าดงหนามจนเจ็บแสบ แต่ผู้บริหารทุกคนกลับไม่ยอมแพ้ ใครจะคิดว่า “เบียร์ช้าง” รสชาติไม่เอาไหนในตอนนั้น ที่ขนาดตั้งราคาไว้ที่สามขวดร้อย ถูกยังกับแจกฟรี จะสามารถเบียดแซงกลายเป็นเบียร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในตอนนี้ ใครจะคิดว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อเล็กๆ จะกลายเป็นสินค้าที่คนไทยต้องไว้ติดบ้าน ใครจะคิดว่า”โออิชิ” มาได้ถึงทุกวันนี้เป็นเพราะการบอกกันปากต่อปาก

ทุกๆ ตอนเราจะเหมือนกันได้อ่านบทละครดีๆ ซักเรื่องเลยล่ะครับ มีทั้งจุดเริ่มต้น ฉากฟันฝ่าอุปสรรค บทดีใจ บทเศร้า หรือกระทั่งฉากบู๊ดุเดือด แต่ต่างมีบทสรุปที่เหมือนกันคือความสำเร็จ และความสำเร็จที่ว่ามันก็ยังไม่ใช่จุดสุดท้าย เพราะทุกแบรนด์ยังคงก้าวเดินต่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่ใหญ่กว่า

———————————————————————————————————————————-

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน, แนะนำหนังสือ and tagged , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment