๒๓/๖ วัดพระพุทธศาสนา ในประเทศไทย

พระธรรมสิงหบุราจารย์

 

    ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่อดีตอันไกล พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นพุทธมามกะและรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ส่วนใหญ่ก็นับถือพระพุทธศาสนา งานพระพุทธศาสนาก็เป็นงานพระราชกรณียกิจ และเป็นงานรัฐกิจที่สำคัญ ควบคู่กับการนับถือพระพุทธศาสนาของประชาชนมาตั้งแต่ต้น

    เพราะฉะนั้นวัดในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่ทำงานพระพุทธศาสนา โดยพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการ พระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชน เป็นผู้อุปถัมภ์ จึงมีอยู่ทั่วประเทศไทยทุกภาค ทุกจังหวัดและทุกอำเภอ ขณะนี้วัดในประเทศไทยมีมากกว่า ๓๐,๐๐๐ วัด วัดทั้งหมดนี้ ถ้าตั้งอยู่บนเนื้อที่วัดละ ๑๕ ไร่โดยเฉลี่ย ก็จะเป็นเนื้อที่มากกว่า ๔๕๐,๐๐๐ ไร่ ถ้าสร้างด้วยเงินวัดละ ๕ ล้านบาทโดยเฉลี่ย ก็จะเป็นเงินมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งก็นับเป็นจำนวนค่อนข้างมาก
การสร้างก็ยังดำเนินการกันอยู่เรื่อยๆ บ้านขยายออกไปเท่าไร วัดก็เพิ่มมากขึ้นตามกัน เพราะมีบ้านที่ไหน ก็มีวัดที่นั่น ห้ามไม่ได้ บางทีก็สร้างใกล้กันมากเกินไปโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษในทางให้เกิดการแข่งขัน สร้างความแตกแยกในระหว่างกันก็มี เป็นความจริงที่ควรจะพิจารณาด้วยดีของทุกๆฝ่าย

ประเด็นที่ควรพิจารณา ก็คือ
    ๑. วัดทำประโยชน์อะไรให้บ้านบ้าง คุ้มค่าหรือไม่
    ๒. งานหรือกิจกรรมของวัดในขณะนี้ถูกต้องหรือควรแก้ไขประการใดบ้าง เพราะเหตุไร
    ๓. การบำรุงวัดที่สมควร ควรจะเป็นอย่างไร
    ๔. การสร้างวัดที่ไม่สมควรมีหรือไม่ ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสม

วิถีทางที่วัดจะทำประโยชน์แก่ประชาชนได้ คือ ต้องทำวัดให้เป็น
    ๑. ศาสนสถาน
    ๒. ศึกษาสถาน
    ๓. ธรรมสถาน
    ๔. บุญสถาน
ถ้าวัดมีลักษณะครบทุกประการตามนี้ และมีจำนวนพอสมควร ย่อมมีประโยชน์แก่บ้านคุ้มค่า

    วัดพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และที่ปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ ที่สร้างร่วมกันในที่ที่สมควร โดยเอกเทศควรมีลักษณะเรียบง่ายเป็นไปตามธรรมชาติ เว้นจากความสวยงามหรูหรา ควรมีลักษณะเรียบร้อยน่ารื่นรมย์ เป็นอาวาสอารามในบรรยากาศสงัดเงียบ อันนำไปสู่ความวิเวก

หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์
    ๑. ทำงานพระศาสนา
    ๒. ให้การศึกษา
    ๓. อบรมคุณธรรม
    ๔. เป็นสื่อแห่งบุญของทุกคน

เพื่อ
    ๑. ตนเอง
    ๒. คนอื่น
    ๓. ส่วนรวม

ด้วย
    ๑. ความเมตตา
    ๒. ยึดพระธรรมวินัย
    ๓. มุ่งหมายความสงบ

    โดยยึดหลักสำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติธรรม จะทำอะไรมากมายเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่มีการปฏิบัติธรรมจะไม่สำเร็จดัง
ประสงค์

ศาสนา คือระบบบริหารตนเองและบริหารสังคมเพื่อ
    ๑. ความเจริญงอกงาม
    ๒. ความสงบเรียบร้อย
    ๓. ความสามัคคีกลมเกลียวกันตามลัทธิและปรัชญาแต่ละกาลเทศะ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อความเจริญงอกงามของ ๓ สิ่ง คือ
    ๑. ปัญญา ความรอบรู้มายาและสัจธรรม เข้าใจธรรมชาติ
    ๒. ความบริสุทธิ์ใจ
    ๓. ความกรุณา ความช่วยเหลือกัน เพราะมีชีวิตร่วมกันตลอดเวลา

ปรัชญาชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนา มีว่า
    ๑. คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้เป็นคนเลว
    ๒. คนทีช่วยตัวเองได้เป็นคนธรรมดา ๆ ไม่ใช่คนเลว แต่ก็ไม่ใช่คนดี
    ๓. คนที่ช่วยคนอื่นได้ เป็นคนดี เป็นคนแท้
    ๔. คนที่ช่วยส่วนรวมได้ เป็นคนดีที่สุด
    ๕. คนเกิดมาเพื่อช่วยเหลือกัน และมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยเหลือกันจึงเป็นสัตว์ประเสริฐ

การศึกษา คือการเตรียมชีวิต เพราะการศึกษาทำให้เกิดสิ่งดี ๓ ประการ คือ
    ๑. รู้จักคิด
    ๒. รู้จักทำ
    ๓. รู้จักแก้ปัญหา

    สร้างความสามารถในการช่วยตัวเองให้มีกินมีใช้ อยู่กับคนที่ต้องการจะอยู่ด้วยได้ และด้วยความสบาย มีความปลอด
ภัยไร้ปัญหา เป็นการเตรียมการเป็นคน ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยคนอื่นและช่วยส่วนรวมตามลำดับ

คุณธรรม คือระบบให้เกิดความสำเร็จและความมั่นคง เป็นพื้นฐานแห่งความเป็นคน

ความเป็นคน ประกอบด้วย ๔ ส่วน คือ
    ๑. คุณธรรม
    ๒. อาชีพ
    ๓. หน้าที่
    ๔. สังคม

คุณธรรมสำคัญที่สุด เพราะทำให้อาชีพเจริญมั่นคง หน้าที่เรียบร้อย สังคมราบรื่น

ขาดคุณธรรม ทั้งอาชีพ ทั้งหน้าที่ ทั้งสังคมอยู่ไม่ได้ ไปไม่รอด คุณธรรมจึงเป็นเหมือนเสาแห่งความเป็นคน

คุณธรรมพื้นฐานที่จำเป็น คือเบญจธรรมแห่งความเป็นคน นำไปสู่ความสำเร็จที่ปรารถนา ได้แก่
    ๑. วินัย
    ๒. ความอดทน
    ๓. ความซื่อสัตย์
    ๔. ความเมตตา
    ๕. ความสามัคคี

วินัย เป็นการยึดปฏิบัติ ๓ สิ่งนี้คือ
    ๑. ระเบียบ เพื่อความถูกต้องเรียบร้อย
    ๒. มารยาท เพื่อความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
    ๓. ประเพณี เพื่อความสืบเนื่องแห่งสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้
เป็นจุดเริ่มต้นแห่งหน้าที่การงานและความเป็นอยู่ทุกกรณี

ความอดทน คือความอดกลั้นต่อเครื่องกีดขวางอาชีพ หน้าที่ ความเป็นอยู่ และสภาพสังคม โดยเฉพาะอยากเป็นคนต้องทนได้ อยากอยู่กับคน ต้องทนได้

ความซื่อสัตย์ คือ
    ๑. ความซื่อตรงต่อหน้าที่
    ๒. ความจริงใจต่อคนทั่วไป
    ๓. ความจงรักภักดีต่อผู้ใหญ่
    ๔. ความกตัญญูกตเวที

ความเมตตา คือ
    ๑. ความรักกัน
    ๒. ความปรารถนาดีต่อกัน
    ๓. การให้เกียรติกัน
    ๔. การให้อภัยกัน

ความสามัคคี คือความคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน
    ๑. ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
    ๒. ไม่แสดงความหยาบคายต่อกัน
    ๓. ไม่มุ่งเอาแพ้เอาชนะกัน
มุ่งความปรองดอง เพื่อความเข้าใจกัน เป็นประการสำคัญ

คำว่าบุญ หมายถึงความสะอาดหมดจดของความคิด นำชีวิตไปสู่ความเจริญมั่นคง เพราะบุญมีลักษณะดังนี้
    ๑. ไม่ทำลายตัวเอง
    ๒. ไม่ทำลายคนอื่น
    ๓. ไม่ทำลายส่วนรวม
    ๔. เป็นแหล่งแห่งสันติสุขของมนุษยชาติ

บุญเกิดเพราะ
    ๑. การให้ความช่วยเหลือกัน
    ๒. ความมีวินัยของคน
    ๓. ความมีปัญญาที่ช่วย ตนเองถูกทาง สร้างความไม่มีเวรไม่มีภัยให้แก่คนทั้งหลาย

องค์ประกอบ ๔ ของการเป็นคนสมบูรณ์ คือ
    ๑. ศาสนา
    ๒. การศึกษา
    ๓. คุณธรรม
    ๔. บุญ
องค์ประกอบทั้ง ๔ เป็นงานของวัดในพระพุทธศาสนา ดำเนินการจัดเป็นจตุสดมภ์ชีวิตที่สำคัญของคนและสังคม และมีความสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

    นี่คือประโยชน์ที่วัดให้แก่บ้าน เพราะฉะนั้นมีบ้านจึงต้องมีวัด โดย วัดทำหน้าที่ ๔ อย่าง คือ
    ๑. เป็นพี่เลี้ยงบ้าน
    ๒. เป็นผู้ปกครองบ้าน
    ๓. เป็นผู้นำบ้าน
    ๔. เป็นศูนย์กลางของบ้าน เป็นสโมสรสถานของบ้าน

    บ้านอยู่ได้เพราะวัด และวัดอยู่ได้เพราะบ้าน เพราะบ้านพึ่งวัด วัดพึ่งบ้าน ซึ่งเป็นชีวิตอันสมบูรณ์ของไทยมาแต่โบราณกาล ทั้งหมดนี้คือความจริงที่คุ้มครองชาติไทย คนไทย และเมืองไทยให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ จึงสมควรที่จะได้รับการพิจารณาจากผู้ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองทุกคน ตามข้อเท็จจริง ในปัจจุบันนี้วัดมิได้เป็นตามที่ได้กล่าวมาทุกประการ ได้เปลี่ยนจากที่เป็นมา ซึ่งควรจะเป็นต่อไป แต่ก็เป็นไปในประการที่ไม่ควรจะเป็นมากมาย บางแห่งแทบจะไม่มีสิ่งดีเหลืออยู่เลยก็มี

สรุปตามข้อเท็จจริงในขณะนี้ ได้บางประการ คือ
    ๑. การสร้างวัดในขณะนี้ ที่มิใช่เพื่อบ้านหรือเพื่อพระศาสนา แต่เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของคนสร้าง หรือเพื่อ
สนองตัณหาของคนสร้าง ก็มีอยู่ อยู่วัดเดิมไม่ใหญ่โตพอ ทำอะไรไม่ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ก็ไปสร้างวัดใหม่ สร้างวัดขึ้นมาแล้วก็ดำเนินการเพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อประโยชน์ ตามที่ตนปรารถนา ทำลายศักดิ์ศรี ความสงบสุข ความสามัคคี ภายในบ้านให้ย่อยยับลงไป วัดอย่างนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย

    ๒. วัดหลอกลวงบ้าน เอาเปรียบบ้าน บั่นทอนเศรษฐกิจบ้าน บางวัดเต็มไปด้วยมลภาวะที่เป็นภัยต่อบ้านมีความเป็น
อยู่รกบ้านก็มี

    ๓. วัดกับบ้านขัดกัน จนมีสภาพเป็นปรปักษ์ต่อกันก็มีไม่น้อย บ้านเบียดเบียนวัดก็มี ภายในวัดมีคนที่เป็นอันตรายต่อ
บ้านและมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นพิษต่อบ้านก็มี

ในที่สุดวัดที่ไม่มีสภาพเป็นวัดเลยก็มีอยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วไป

สาเหตุที่วัดไม่เป็นวัดมีหลายประการ เช่น
    ๑. บางท้องที่หาเจ้าอาวาสที่มีคุณภาพสมควรต่อการงานและหน้าที่ไม่ได้
    ๒. บางแห่งหาคนที่มีความเข้าใจวัดเข้าใจศาสนาที่ถูกต้องไม่ได้ ทั้งพระทั้งฆราวาส
    ๓. บางที่ไม่มีคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต ว่าควรจะต้องมีอะไรบ้างจึงจะมีทางอยู่รอดได้
    ๔. บางที่ก็นับถือศาสนา นับถือวัด นับถือพระไม่ถูกต้อง บำรุงพระศาสนา บำรุงวัด บำรุงพระ ไม่ถูกเป้าหมาย หรือบางทีก็บำรุงมากเกินสมควรไป ทำให้วัด ทำให้พระหลงทาง ก็มีไม่น้อย

    ต้นเหตุแห่งความวิปริตทั้งหลายที่กล่าวมา คงเป็นเพราะระบบบริหารการศาสนาของคณะสงฆ์ ที่ผ่านมาและที่กำลังใช้อยู่ ไม่ถึงเป้าหมาย เพราะความเข้าใจของพวกเราทั้งหมด ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไม่ถึงมาตรฐาน ไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ทันอิทธิพลแห่งมายาและสิ่งแวดล้อมทุกเหตุรวมกัน ไม่ใช่เพราะพวกใดพวกหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง ความไม่ถึงเป้าหมายที่ว่านั้น ได้สะสมหมักหมมทีละเล็กทีละน้อยมานานมาก จนอาจมีปริมาณเหลือวิสัยที่จะแก้ไขได้ ในชั่วชีวิตของพวกเรานี้ก็ได้

    พุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ต้องพิจารณาด้วยดีว่า ถ้าเราไม่แก้ไขใครจะแก้ไข เพราะพวกเราทำลายเอง พวกเราต้องแก้เอง ทำดีกว่าไม่ทำเพราะทำก็คงได้ผลบ้าง ถ้าไม่ทำก็จะไม่ได้อะไรเลย
เพราะฉะนั้น “ทำเถิด ตั้งใจทำ ดีกว่าสักแต่ว่าทำ”

    บางคนพูดว่า “เรื่องของวัดเรื่องของพระอย่าเอามาพูดเลย รำคาญเปล่า ๆ” บ้านเราทรัพย์สินเรา ถ้าราไม่รักษาไม่ดูแล ใครเขาจะรักษาดูแล เพราะไม่ใช่เรื่องของเขา ตัวเรา เราก็ต้องรักษาเอง ถ้าเรารักตัวเอง

    พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชีวิตเราที่สุด ถ้าเราห่างไป ก็คงไม่มีอะไรทำให้เรายึดมั่นใจในตัวเราเองแบบไทยๆได้

    ศรัทธา เป็นกำลังในการสร้างความสำเร็จที่ชอบที่ประเสริฐ เป็นพระพุทธพจน์ที่ควรแก่การศึกษาโดยแท้

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›