๒๐/๒ ธรรมกับประชาธิปไตย

พระธรรมสิงหบุราจารย์

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชปณิธาน* ว่า

คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า

ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา

พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา

พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตั้งปณิธานไว้ ** ว่า

ตั้งใจอุปถัมภก

ยอยกพระพุทธศาสนา

ป้องกันขอบขัณฑสีมา

รักษาประชาชนและมนตรี

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดเอาสถาบันหลักทั้ง ๓ มาเป็นสัญลักษณ์ในธงไตรรงค์ * ดังที่ได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ( ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ ๒๔๖๑: ๔๒) ดังนี้

(กาพย์ฉบัง ๑๖)

ขอร่ำรำพันบรรยาย                          ความคิดเครื่องหมาย

สีแห่งทั้งสามงามถนัด

ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์                     หมายพระไตรรัตน์

และธรรมะคุ้มจิตใจ

แดงคือโลหิตเราไซร้                         ซึ่งยอมสละได้

เพื่อรักษาชาติศาสนา

น้ำเงินคือสีโสภา                              อันจอมประชา

ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

จัดริ้วเป็นทิวไตรรงค์                         จึ่งเป็นสีธง

ที่รักแห่งเราชาวไทย

ทหารอวตารนำไป                            ยงยุทธ์วิชัย

วิชิตก็ชูเกียรติสยาม

    แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ซึ่งเป็นปัจจัยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จึงนำมาผนวกเป็นสัญลักษณ์ ธงไตรรงค์

การเมือง –เรื่องธรรม: ธรรมกับประชาธิปไตย
การพัฒนาทางการเมืองมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนมาก การขัดแย้งทางการเมือง แม้จะเกิดเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็อาจจะกระทบกระเทือนทั้งภายในประเทศจนถึงต่างประเทศ และกระทบกระเทือนทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางศาสนา เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาดำเนินการในการเมืองจะต้องมี “ธรรม” กำกับอยู่ด้วยเสมอ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมสำหรับผู้ปกครองประเทศไว้เป็นอันมาก
ผู้ที่ใช้อำนาจทางการเมือง แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ

     ๑.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คนกลุ่มนี้เป็นคณะบุคคลที่เสียสละตนเอง ทนความเหนื่อยยาก อาสาสมัครมารับทำงานให้กับชาติบ้านเมือง พื้นฐานสำคัญของท่านเหล่านี้คือความเป็น สัตบุรุษพระพุทธเจ้า ทรงนิยามเอาไว้ ซึ่งมาประยุกต์ใช้สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ว่า
สภาใดไม่มีสัตบุรษ สภานั้นไม่ชื่อว่า สภา
คนใดที่พูดไม่เป็นธรรม คนนั้นไม่ชื่อว่า สัตบุรุษ

     เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ท่านเหล่านั้นพร้อมที่จะแสดงความเป็นสัตบุรุษหรือไม่ เราไม่สงสัยในความรู้ของท่าน แต่สิ่งที่เราสงสัยมากก็คือ คุณธรมภายในใจของท่านเหล่านั้น เพราะความเป็นสัตบุรุษจะต้องมีพื้นฐานที่ประกอบด้วย ธรรมของสัตบุรุษ ๘ ประการ ได้แก่

     ๑. สัทธัมมสสันนาคโต ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ คือ
มีศรัทธา คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล
มีหิริ คือ ความละอายต่อบาป
มีโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวบาป
มีพหุสูต คือ การได้ยินได้ฟังมาก
มีความเพียรอันปรารภแล้ว
มีสติมั่นคง
มีปัญญา

     ๒. สัปปุริสภัตตี – ภักดีสัตบุรุษ คือคบหาสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย

     ๓. สัปปุริสจินตี – คิดอย่างสัตบุรุษ คือจะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

     ๔. สัปปุริสมันตี – ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือจะปรึกษาการใดก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

     ๕. สัปปุริสวาโจ – พูดอย่างสัตบุรุษ คือพูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต ๔

     ๖. สัปปุริสกัมมันโต – ทำอย่างสัตบุรุษ คือทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต ๔

     ๗. สัปปุริสทิฏฐี – มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือมีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

     ๘. สัปปุริสทานัง เทติ – ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่นให้โดยเอื้อเฟื้อ ทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น

     คุณสมบัติเหล่านี้ถือเป็นคุณสมบัติหลัก แต่ในภาคปฎิบัติพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงในลักษณะที่เป็นศิลปะในการใช้ธรรมะไว้ หมายความว่า เราใช้ธรรมข้อใดก็ตาม เราต้องอาศัยความเหมาะสม ทรงแสดงว่า บุคคลจะต้องปะกอบด้วยคุณธรรม คือ เป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จัดกาลเวลา รู้จักชุมชน และรู้จักเลือกคบหาสมาคนกับคน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าท่านประกอบด้วยสัปปุริสธรรมเหล่านี้ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดี

     ๑.คนที่จะทำหน้าที่ในทางบริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล งานหลักก็คือ

    ป้องกัน งานปกป้องสิ่งที่เป็นภัยเป็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง

    บำบัด เห็นว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค เป็นปัญหา เป็นความเดือดร้อน เป็นความทุกข์ทรมานของประชาชนและประเทศชาติ ก็ต้องขจัดปัญหาเหล่านั้นออกไป

     บำรุง สิ่งอะไรเป็นความดีงาม เป็นประโยชน์ เสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงมั่งคั่ง ก็ต้องสร้างสรรค์พัฒนาให้เกิดขึ้น ตลอดจนธรรมเนียมประเพณี

     รักษา ความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ที่ดีงามอันมีอยู่แล้วก็พยายามรักษาไว้

     หากผู้บริหารประเทศได้ยึดมั่นในหลักของ ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และ จักรวรรดิวัตร ซึ่งเป็นธรรมปฎิบัติของผู้บริหาร ก็จะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ผู้บริหารทุกคนจะต้องมีคุณธรรมนี้เป็นหลักในการบริหารตน บริหารคน บริหารงาน จนถึงบริหารประเทศ

ทศพิธราชธรรม
     ๑.ทาน การให้ เป็นการกระทำเพื่อบูชาความดี หรือเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาราษฎร์ หรือสาธารณประโยชน์

     ๒.ศีล ควบคุมความประพฤติปฎิบัติของตนให้อยู่ในฐานะที่เหมาะที่ควร ให้เป็นตัวอย่างเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ ไม่ทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่น

     ๓.ปริจจาคะ เสียสละประโยชน์สุขต่างๆ ที่ตนควรจะได้ ควรจะมี ควรจะเป็น เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

     ๔. อาชชวะ มีความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อบุคคลอื่น ต่อกฎเกณฑ์แบบแผนทั้งหลาย ปฎิบัติภารกิจโดยสุจริต ไม่หลอกหลวงประชาชน

     ๕. มัททวะ มีความอ่อนโยน มีอัธยาศัยน่ารัก น่าเคารพน่านับถือ น่าศรัทธา เพราะการบริหารบ้านเมืองนั้น ไม่ได้อยู่ที่การแสดงอำนาจ แต่อยู่ที่ศรัทธาของประชาชน ถ้าประชาชนเขาเคารพนับถือศรัทธาแล้ว เขาก็ให้ความเคารพนับถือยำเกรง ถ้าเขาเครียดแค้นชิงชังแล้ว จะมีอะไรป้องกันไว้ก็ป้องกันไม่อยู่

     ๖. ตปะ มีความข่มใจไม่ยอมหลงไหลในกิเลสตัณหา เช่นความสุขสำราญต่าง ๆ มุ่งบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์

     ๗. อักโกธะ ไม่โกรธ มีเมตตาจิตอยู่เสมอเพื่อระงับความขุ่นเคือง วินิจฉัยความและการกระทำด้วยจิตอันสงบ

     ๘. อวิหิงสา ไม่เบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่น ทั้งทางกาย วาจา และแม้แต่ความคิด ไม่บีบคั้นกดขี่ ไม่หลงระเริงในอำนาจ

     ๙. ขันติ อดกลั้นอดทนต่อความยากลำบากทั้งหลาย เช่นภารกิจการงาน ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดจากถูกยั่วถูกหยัน

     ๑๐. อวิโรธนะ ไม่ประพฤติคลาดจากธรรมหรือผิดกฎเกณฑ์จารีตประเพณีแบบแผนที่ดีงาม ควบคุมตัวเองไม่เอนเอียงหวั่นไหวไปตามถ้อยคำหรือลาภสักการะ หรืออารมณ์ใด ๆ

ยิ่งกว่านั้น ท่านยังได้แสดงราชสังคหวัตถุ ไว้ ๔ ประการคือ
     ๑. สัสสะเมธะ ฉลาดในการส่งเสริมการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การประมง

     ๒.ปุริสเมธะ ฉลาดในการใช้คน ส่งเสริมสนับสนุนคน มอบหมายให้คนทำงาน เรียกว่า ใช้คนเป็น

     ๓.สัมมาปาสะ ส่งเสริมอาชีพของประชาชน เช่นการให้กู้ยืมทุน การจัดสรรที่ดินให้ และช่วยเหลือเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้

     ๔.วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ สุภาพ นุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล สร้างความเข้าใจอันดี ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ซึ่งมีประสิทธิภาพที่อธิบายเหตุผลแก่ประชาชนภายในชาติได้
ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมนั้น มักเกิดจากการประชาสัมพันธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแทนที่จะลดความรุนแรงกลายเป็นการกระพือโหมให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าใช้วาจาลักษณะที่สร้างความซาบซึ้งความประทับใจต่อกันและกัน ก็จะสามารถบริหารบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยดี

     ในทางพัฒนาสังคมนั้น พระพุทธศาสนามองว่า สังคมเป็นเรื่องของคนจำนวนมากบ้างน้อยบ้างอยู่ร่วมกัน หากสามารถพัฒนาปัจเจกชนแต่ละคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว ปัญหาทางสังคมก็จะลดลงไป พระพุทธศาสนาจึงมุ่งไปที่การพัฒนาจิตสำนึกพฤติกรรมของคนในสังคม โดยพยายามให้แต่ละคนในสังคมปฎิบัติตามหลักของศีล ๕ ประการ คือ

๑.งดเว้นการล่วงละเมิดสวัสดิภาพทางร่างกายของคนอื่น
๒.ไม่ล่วงเกินทรัพย์สินเงินทองของคนอื่น
๓.ไม่ล่วงเกินในคู่ครองของกันและกัน
๔. ติดต่อพูดจากันด้วยคำสัตย์คำจริง
๕.งดเว้นจากการเสพสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย จนถึงงดเว้นอบายมุขทั้งหลาย

     การบริหารบ้านเมืองนั้นขอเพียงแต่ผู้บริหารมีความรู้มีคุณธรรมเหมาะสมแก่สถานะของตน ก็จะแก้ปัญหาพัฒนาบ้านเมืองได้ โดยมีคุณธรรมเป็นฐานในการทำงานทุกอย่าง

๓.อำนาจตุลาการหรือศาล
     หน้าที่ของฝ่ายตุลาการคือการประสิทธิ์ประสาทความเป็นธรรม ความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม คนที่จะทำงานด้านนี้ได้จะต้องมีความรอบรู้ในด้านกฎหมาย รู้ว่าการกระทำอะไรผิด อะไรถูก รู้จักคดี รู้เหตุเกิดของคดี รู้การสงบระงับแห่งคดี รู้หลักการวิธีการที่จะให้คดีเหล่านั้นสงบ ที่สำคัญอย่างยิ่งให้ทุกฝ่ายมีความพอใจ

     จิตใจของผู้เป็นตุลาการจะต้องไม่ลำเอียงด้วยอำนาจของอคติทั้ง ๔ ประการ คือ

๑.ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียกว่า ฉันทาคติ
๒.ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียกว่า โทสาคติ
๓.,ลำเอียงเพราะ กลัว เรียกว่า ภยาคติ
๔.ลำเอียงเพราะหลง เรียกว่า โมหาคติ

     คนที่ทำงานในด้านนิติบัญญัติก็ดี บริหารก็ดี ตุลาการก็ดี จะต้องเป็นคนไม่ลำเอียง เพราะมุ่งให้เกิดความเป็นธรรม ความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม ในขอบข่ายงานที่ตนรับผิดชอบ ถ้ามีความลำเอียงแล้ว ความเป็นธรรม ความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้
ปัญหาเศรษฐกิจ

     แม้จะมีความสลับซับซ้อนอยู่เป็นอันมากก็ตามพระพุทธเจ้าได้แสดงสุขในการครองเรือนสำหรับชาวบ้านทั้งหลาย ( คิหิสุขหรือกามโภคีสุข ) ไว้ ๔ ประการคือ

     ๑.อัตถิสุข ความสุขที่เกิดจากความมีทรัพย์ ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตนและโดยชอบธรรม

     ๒.โภคสุข ความสุขที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพหรือบำเพ็ญประโยชน์ตามความต้องการของตน

     ๓.อนณสุข ความสุขที่เกิดจากการไม่เป็นหนี้สินใคร

     ๔.อนวัชชสุข ความสุขที่เกิดจากการประกอบกิจการงานที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ทำให้สิ่งที่ตนได้มาเป็นการได้มาในทางที่สุจริตชอบธรรม ใครๆ ก็ติเตียนไม่ได้

     ผลเหล่านั้นจะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยการดำเนินชีวิตไปตามหลักของทิฎฐธัมมิกัตถะ หรือหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น ๔ ประการ คือ

     ๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการหมั่นขยันในการปฎิบัติภารกิจหน้าที่การงานอันสุจริตตามหน้าที่ของตน โดยมีปัญญา มีวิจารณญาณ เห็นการณ์ไกล

     ๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยจัดแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน สองส่วนใช้ดำเนินธุรกิจต่อไป หนึ่งส่วนใช้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว อีกหนึ่งส่วนเก็บออมเอาไว้เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

     ๓.กัลยาณมิตตตา คบหาสมาคมกับคนดีเป็นมิตรเป็นสหาย เลือกคบมิตรที่ทรงคุณ มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ซึ่งจะอุปการะแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และพร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เรียกว่า กัลยาณมิตร

     ๔.สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ซึ่งตนหาได้มา ไม่ใช้จ่ายให้ฝืดเคืองเกินไปหรือฟุ่มเฟือยจนเกินไป รู้อะไรควรจ่ายและไม่ควรจ่าย มองถึงประโยชน์ที่ตนจะได้จากสิ่งเหล่านั้นเป็นสำคัญ

     ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่จะเสริมสร้างฐานะของตนให้มีความมั่งคั่งขึ้น จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ

๑. สิ่งของอะไรก็ตามที่หายไปแล้วก็พยายามหากลับคืนมา
๒. ของเก่าที่พอจะบูรณซ่อมแซมใช้ประโยชน์ ก็บูรณะซ่อมแซมให้ใช้ประโยชน์ได้
๓. พ่อบ้านแม่เรือนจะต้องเป็นคนอยู่ในศีลในธรรม ไม่เป็นคนทุศีล
๔. รู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอย รวมถึงการแสวงหาการครอบครองในการใช้สอยทรัพย์สมบัติ

หากว่าจับหลักเหล่านี้ได้ แล้วขยายไปจากจุดเหล่านี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จากจุดย่อยที่สุดคือ ปัจเจกชน ถึงจุดใหญ่ที่สุดคือชาติบ้านเมืองได้

     แต่เนื่องจากศาสนาเป็นเรื่องของการสอนศาสนธรรมดังกล่าว ผลิตผลของพระพุทธศาสนาในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงต้องอาศัยการยอมรับนับถือหลักธรรมเหล่านั้น แล้วนำไปประพฤติปฎิบัติ ผลที่พระพุทธศาสนา สอนไว้จึงจะเกิดขึ้น ผลแห่งธรรมปฎิบัติดังกล่าวนั้นในปัจุบันจึงไม่อาจแสดงผลได้เต็มที่ เพราะมีเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ เป็นอันมากขัดขวางอยู่ ทุกฝ่ายที่มีความรับผิดชอบในศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ประเทศชาติ พยายามแก้ไขปรับปรุงกันอยู่ ด้วยความหวังว่าศีลธรรมจะกลับมาเปล่งอานุภาพทำหน้าที่อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›