๑๙/๑๐ ประโยชน์ของการบวชในพระพุทธศาสนา

พระธรรมสิงหบุราจารย์

    ท่านภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ผมมีความรู้สึกมานานแล้วว่า พวกเราทั้งหมดนี้เป็นคนที่โชคดีเป็นอย่างยิ่ง และมีโชคดีตั้ง ๒-๓ ชั้น คือ

    ชั้นแรก มีโชคดีเพราะได้เกิดเป็นคนไทย ได้พบพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

    ขั้นต่อมา มีโอกาสดีที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา
และขั้นสุดท้าย มีโชคดีเพราะได้บวชเข้าพรรษาตามคตินิยมของคนไทยแต่เดิมมา

    พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นพระพุทธศาสนาที่มีความงดงาม เป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใส คนไทยจำนวนมากในประเทศไทยจึงนับถือพระพุทธศาสนา บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาดีกว่าประเทศใด ๆ รัฐบาลไทยก็ส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนา ถือการส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลทุกรัฐบาลมาโดยตลอด พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกมาด้วยดีทุกรัชกาล มาถึงสมัยประเทศไทยถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ก็ได้กำหนดเป็นบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ

    ชาติไทย และคนไทยมีความร่มเย็นเป็นสุขและปลอดภัย ก็โดยได้อาศัยพระพุทธศาสนาเป็นแนวชีวิตมาด้วยดี สมความมุ่งหมายของบรรพบุรุษของไทยที่ได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติชาติเดียวในโลก

    พุทธศาสนิกไทยในประเทศไทยเท่านั้น ที่ถือเอาการบวชเป็นกิจกรรมประจำชีวิตอย่างแน่นแฟ้นมาตั้งแต่ต้น ชายไทยที่มีคุณสมบัติจะบวชได้ทุกคน จะไม่ค่อยมีใครที่ไม่ต้องการบวช พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ก็ทรงผนวช

    เราถือการบวชเป็นการพัฒนาชีวิตที่สำคัญ ใครยังไม่ได้บวชจะยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินชีวิตทุกรูปแบบ จะยังมีครอบครัวไม่ได้ ถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ถือการบวชเป็นการปรับปรุงสร้างสรรค์แก้ไขชีวิตที่สำคัญ ใครบวชแล้วตั้งตัวไม่ได้ แก้ไขปรับปรุงไม่ได้ เป็นคนหมดโอกาสในชีวิตแน่

    พระสงฆ์ไทยได้รับความเคารพนับถือ เป็นที่เจริญศรัทธา เลื่อมใส เป็นที่บำเพ็ญกุศลของประชาชนทั่วไป

    ลาสิกขาออกมาแล้วก็ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นคนดี เป็นคนมีสติปัญญา ถึงกับเรียกกันว่า “บัณฑิต” หรือ ทิด ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป พุทธศาสนิกชาติใด ๆ นอกจากไทยไม่มีความนิยมเช่นนี้ และผมมีความเชื่อมั่นว่า สิ่งสำคัญที่พระพุทธศาสนาได้ให้แก่คนไทยในประเทศไทยหรือชาติไทยในเมืองไทยก็คือ “ประโยชน์ของการบวช” ไม่ใช่บวชเพื่อประเพณีหรือบวชตามประเพณี ดังที่คนรุ่นใหม่บางกลุ่มบางคนที่ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องได้ปฏิบัติทั่วไปในขณะนี้ ซึ่งอาจทำให้เสียของดีของพระพุทธศาสนาก็ได้ หากไม่รีบปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกันเสียใหม่ โดยถ้าจะบวชก็ต้องบวชให้ได้พรรษา ซึ่งเป็นกำหนดเวลาสำหรับการพัฒนาชีวิตช่วงสั้นช่วงหนึ่ง ยกเว้นการบวชเพื่อประเพณี เพราะความจำเป็นสำหรับบางคน

    ประโยชน์ของการบวชในพระพุทธศาสนาในประเทศไทย จากความคิดและประสบการณ์ของผม มี ๔ ประการ คือ

๑. มีโอกาสได้ปลูกฝังคุณธรรมครั้งใหญ่
๒. มีโอกาสได้ดำเนินชีวิตไปพบ “พระ” หรือพบความเป็นพระ เพื่อจะได้อยู่อย่างพระ มีพระหรือความเป็นพระเป็นผู้นำชีวิต และมีอยู่ในความคุ้มครองของพระ
๓. มีโอกาสได้ดำรงชีวิตอยู่ในที่ปลอดภัยระยะหนึ่ง
๔. มีโอกาสได้สืบพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไป

คุณธรรมมีความสำคัญเหนือสิ่งทั้งหลายในชีวิตคน ชีวิตคนประกอบด้วย

๑. คุณธรรม
๒. อาชีพ
๓. หน้าที่
๔. สังคม

    โดยคุณธรรมเป็นรากฐาน อีก ๓ ประการเป็นตัวปัจจัย คนมีคุณธรรมจึงประกอบอาชีพได้เจริญงอกงาม มีความมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อย ไม่บกพร่อง สร้างสังคมได้ใหญ่โตกว้างขวาง และรักษาให้ราบรื่นได้ ถ้าไม่มีคุณธรรม หรือมีคุณธรรมไม่พอก็ล้มเหลวทุกประการ

    คำว่า คุณธรรม หมายถึง แบบอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องที่จำเป็น และเป็นพื้นฐาน ได้แก่

๑. วินัย
๒. คุณธรรมประจำชาติไทย ตามพระบรมราโชวาท และมนุษยธรรมเบื้องต้น

คนมีวินัย คือ คนที่

๑. เคารพระเบียบ แบบแผน กฎ ข้อบังคับ
๒. มีกิริยามารยาทเรียบร้อย
๓. ถือขนบธรรมเนียม ประเพณี

    วินัยเป็นเบื้องต้นแห่งสิ่งทั้งหลาย เพราะนำไปสู่ความราบรื่นทุกอย่าง คนมีวินัยเป็นคนพร้อมที่จะมีสิ่งดีงามทั้งหลายได้ แต่ถ้าเสียวินัยแล้วก็ไม่มีสิ่งดีใดเหลืออยู่เลย

    การปลูกฝังวินัย มีแนวที่จะสำเร็จได้ด้วยการฝึกปฏิบัติ ให้เป็นคนตรงต่อเวลา แต่งกายเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ถ้าเป็นนักเรียนต้องเคารพกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยค่อยทำค่อยเป็นไป ต้องอาศัยเวลา เหมือนปลูกต้นไม้ ถ้าใจเร็วด่วนได้มักไม่สำเร็จ

    ถ้าฝึกตนจนมีวินัยได้แล้ว จะเกิด “นิสัย” เพื่อความปลอดภัย ๓ ประการ ขึ้นได้ คือ

๑. รู้จักระวังตัว
๒. รู้จักควบคุมตัว
๓. รู้จักเชื่อฟัง

    ด้วยพระพุทธประสงค์ที่จะทรงปลูกฝังนิสัยเพื่อความปลอดภัยแก่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระองค์นี่เอง พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติวินัย ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติตามไว้มากมาย ทั้งที่เป็นระเบียบข้อบังคับ กิริยามารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี จนบรรดาพระภิกษุใจต่ำ ที่ไม่สามารถจะเข้าใจว่า วินัยคือพื้นฐานของคน รู้สึกอึดอัด ไม่อาจที่จะปฏิบัติพระวินัยด้วยดีได้

    ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุ แม้เพียง ๑ พรรษา ถ้าไม่ศึกษาปฏิบัติพระวินัยด้วยดีแล้ว ก็มองไม่เห็นว่า การบวชจะเกิดอะไรที่ควรปรารถนา อาจจะบวชขาดทุนก็เป็นได้

    ท่านพระภิกษุทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่เป็นเจ้าอาวาสโปรดพิจารณาข้อเท็จจริงที่ผมได้กล่าวมานี้ด้วยดี นี้คือ คุณธรรมจำเป็นพื้นฐานประการแรกของชีวิต

    ประการต่อไปได้แก่ คุณธรรมประจำชาติไทย ตามพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ซึ่งมี ๔ ประการ คือ

๑.สัจจะ

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ เป็นยอดความดีของคนทั้งหลาย
ความจริงใจต่อคนทั่วไป ซึ่งเริ่มที่ตนเองก่อน
ความจงรักภักดีต่อผู้ใหญ่ เช่น ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชาของตน
ความกตัญญูกตเวที ต่อบุคคล สถานที่ และสถาบัน ที่มีอุปการคุณต่อตน ต่อคนที่เกี่ยวข้องกับตน หรือแก่คนทั่วไป
ความซื่อสัตย์ ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนี้ คือ จุดเริ่มต้นแห่งความดีที่ปรารถนา

ความซื่อสัตย์ เป็นรสอันประเสริฐของชีวิตคนทั้งหลาย คนมีความซื่อสัตย์ย่อมมีโอกาสอันประเสริฐตลอดเวลา คือ

๑. จะอยู่ที่ไหนก็สบายทุกแห่ง เพราะเป็นที่ต้องการของคนทั้งหลาย
๒. จะไปไหนก็สะดวกทุกแห่ง เพราะมีคนยินดีต้อนรับ
๓. จะทำอะไรก็สำเร็จทุกอย่าง เพราะมีคนคอยให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ

ถ้าเสียความซื่อสัตย์ ก็เป็นอันหมดโอกาสทุกประการ

๒.ทมะ

    ความข่มใจ คือการรู้จักควบคุมใจให้อยู่ในความซื่อตรงความจริงใจนั้นตลอดเวลา โดยเฉพาะรู้จักบังคับใจไม่ให้
อยู่ใต้อำนาจความอยากได้ ความเห็นแก่ตัว อันเป็นข้าศึกแห่งความจริงใจ

๓.ขันติ

    ความรู้จักอดทนต่อความเหนื่อยยากตรากตรำที่เกิดเพราะการทำงาน อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิด จากความลำบากในเวลาป่วยไข้ จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายได้มีผลให้ฟื้นเร็ว ไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะ อันเป็นสิ่งพึงปรารถนา เมื่อถึงเวลาหมดวาระแห่งชีวิต รู้จักอดทนต่อความไม่พอใจ เพราะอารมณ์ที่ไม่ปรารถนา ซึ่งจะทำให้ระงับปัญหาความยุ่งยากทั้งหลายได้ โดยถือคติว่า อยู่กันคนต้องทนได้ จึงจะอยู่สบายชีวิตต้องฝากไว้กับความอดทนตลอดเวลา เพราะวาระของชีวิตต้องเริ่มต้นที่ความอดทน ตามพระพุทธภาษิตในโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นเครื่องทำลายสิ่งที่ไม่ปรารถนา อย่างดียิ่ง

๔.จาคะ

ความรู้จักเสียสละ คือ
เสียสละสิ่งที่คอยบั่นทอน คอยทำลายความซื่อตรงและความจริงใจ
เสียสละสิ่งที่มีค่าน้อย เพื่อสิ่งที่มีค่ามาก
เสียสละของเราเพื่อเขา เมื่อถึงคราวที่ควรกระทำ
เสียสละความเป็นศัตรู เพื่อความเป็นมิตร
โดยเฉพาะเสียสละสิ่งที่มีค่ายิ่ง ด้วยการให้เกียรติและให้อภัย

    คุณธรรม ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องสร้างหลักฐานและรักษาหลักฐานของชนทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สฺเว เปจฺจ น โสจติ ผู้ที่ปฏิบัติได้ สุขสบายทุกเมื่อ คนไทยได้ยึดถือคุณธรรม ๔ ประการนี้เป็นเครื่องสร้างตนและพัฒนาตนมาด้วยดี จึงมีความเป็นไทยรอดอยู่ได้ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบันนี้

    เราทั้งหลายจงเดินตามทางที่ท่านเดินมาแล้ว จึงจะไม่หลงทาง จงอย่าห่างผู้ใหญ่ จะได้ความสะดวกสบายใจโดยตลอด ตามคติชีวิตที่ว่า อย่าอยู่ว่าง อย่าห่างผู้ใหญ่ จะได้ไม่หลงทาง นอกจากนี้มนุษยธรรม ๓ ประการ ก็ถือว่าเป็นคุณธรรมจำเป็นพื้นฐานระดับเดียวกัน

    คำว่า มนุษยธรรม หมายถึง แบบของความเป็นมนุษยชน คือ คุณธรรมที่ทำให้คนสามารถอยู่รวมกันได้เป็นหมู่คณะ เช่น ครอบครัว เป็นต้น เพราะพึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือกัน มี ๓ ประการ คือ

๑. สัจจะ
๒. เมตตา
๓. สามัคคี
สัจจะเป็นอย่างเดียวกันกับที่พูดไว้ในคุณธรรมประจำชาติไทย

เมตตา

    หมายถึงความรักกัน ปรารถนาดีต่อกัน นับถือกันช่วยเหลือกัน ทำให้อยู่รวมกันได้ ไม่มีปัญหาสามารถรักษาหมู่คณะครอบครัววงศ์ตระกูลให้มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนนาน

    เรื่องของคน เมื่อมีเราก็ต้องมีเขา มีเขาก็ต้องมีเรา เราเขาต้องอยู่ด้วยกันได้ด้วยดี เสียด้วยกัน เราลำบาก เขาก็ลำบาก เขาลำบากเราก็ลำบาก

    เพราะฉะนั้น รักกันช่วยกันดีกว่า มีแต่ได้ไม่มีเสียหายอะไร เกลียดกันทำลายกันมีแต่เสียหายไม่มีได้อะไรเลย

    พระพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราให้มีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน วันสำคัญวันหนึ่งที่น่าจะมีในบ้านเมืองเรา แต่ยังไม่มี ก็คือ วันเมตตา วันแห่งความรักกัน มองกันในด้านดี ปรารถนาดีต่อกัน และช่วยกัน สังคมไทยโบราณมีการช่วยกันทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว เรียกว่า การลงแขก ซึ่งหายไปหลายปีแล้ว ควรจะรื้อฟื้นขึ้นมา

    อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญพอ ๆ กัน คือ ความสามัคคี เพราะถ้าสามัคคีปรองดองกันได้ ก็ไม่มีปัญหามีแต่ความเรียบร้อยทุกประการ ถ้าสามัคคีปรองดองกันไม่ได้ มีปัญหาแน่ ๆ วุ่นวาย แตกแยกกันแน่

เพราะฉะนั้นช่วยกันปลูกสามัคคีกันเถิด โดย

๑. ไม่รุนแรงต่อกัน
๒. ไม่ถือความขัดแย้งกันเป็นเรื่องสำคัญ เห็นไม่เหมือนกันก็ไม่เป็นไร เพราะต่างจิตต่างใจ อย่าเอามาเป็นเหตุให้ต้องแตกแยกกันเลย
๓. ไม่ถือแพ้ถือชนะกัน ชนะก็ต้องรอเวลาที่จะต้องแพ้ด้วยความกังวลใจ แพ้ก็ช้ำใจ ไม่แพ้ใครไม่ชนะใครสุขสบายตลอดเวลา

    ถ้าจะหาความชนะ ก็ชนะตัวเองเถิด โปรดระลึกถึงพระพุทธดำรัสว่า สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี หมู่คณะที่มีความสามัคคีจะมีสุขสบาย และอีกเรื่องก็คือ ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจของสังคม ก็ต้องพยายามปลูกฝังให้เกิดมีขึ้นในตนจึงจะอยู่สบาย สังคมประกอบด้วยคนที่มีฐานะไม่เท่ากัน นี่คือความจริงที่ต้องระลึก ลืมเมื่อใดมักจะเดือดร้อนวุ่นวายเมื่อนั้น

    ฐานะที่สำคัญในสังคม ก็คือ เด็กกับผู้ใหญ่ เป็นเด็กถ้ารู้ตัวว่าเป็นเด็ก มีความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ย่อมเป็นที่รักใคร่ห่วงใยของผู้ใหญ่

    เป็นผู้ใหญ่รู้ตัวว่าเป็นผู้ใหญ่ ย่อมเป็นที่เคารพนับถือของเด็ก จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าขาดความรู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ มักจะกระทบกันมีปัญหามากมาย ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ช่วยกันอยู่ร่วมกัน ช่วยการปกครองได้มากและเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยประการหนึ่ง

    นอกจากนี้ การบวชยังสามารถทำให้คนที่บวชด้วยศรัทธา และความปรารถนาถูกต้อง ดำเนินตนไปพบพระหรือพบความเป็นพระ อันเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญของไทยประการหนึ่ง เพื่อความสำเร็จของชีวิต

สิ่งประเสริฐในคนได้แก่ คุณธรรม ๓ ประการ คือ

๑. ปัญญา
๒. ความบริสุทธิ์
๓. กรุณา

    เพราะเป็นเครื่องก่อให้เกิดกรรมอันประเสริฐ แก่คนและสังคมได้ทุกเมื่อ พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพราะทรงประกอบด้วยพระสัมปทาคุณ ๓ ประการ คือ

๑. พระปัญญาคุณ
๒. พระวิสุทธิคุณ
๓. พระกรุณาคุณ

ซึ่งทำให้ทรงเป็น “โลกนาถ” คือ ทรงเป็นที่พึ่งของโลกตามที่พวกเราได้เรียนกันมา

    คนจะมีค่าสูงสุด เพราะช่วยให้คนอื่นเป็นคนบริสุทธิ์ได้ จะช่วยให้คนบริสุทธิ์ได้ ต้องสามารถช่วยตนเองให้บริสุทธิ์ได้ก่อน โดยมีปัญญา รู้จักความบริสุทธิ์ ได้ถูกต้องของตนเอง เพราะฉะนั้น ทางแห่งความเป็นพระจึงมี ๓ ช่วงด้วยกัน คือ

    ช่วงที่ ๑ ปัญญาความฉลาดรอบรู้ทุกสิ่งทุกประการ ทั้งดี ชั่ว เจริญ เสื่อม สุข ทุกข์ เที่ยง ไม่เที่ยง
จริงไม่จริง ทั้งระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง

    ช่วงที่ ๒ ทำตนให้เป็นคนบริสุทธิ์ ด้วยปัญญาของตน

    ช่วงที่ ๓ อันเป็นช่วงแห่งความเป็นพระที่สมบูรณ์ คือ สามารถช่วยคนอื่นให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ ด้วยความกรุณาห่วงใย โดยไม่มีจำกัดว่าเป็นใคร ถ้ามีอุปนิสัยก็ช่วยได้ทั้งนั้น นี่คือ เรื่องพระที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น พวกเราที่บวชกันแล้ว จะเพิ่งบวชหรือบวชมานานแล้วก็ตาม สำรวจตัวเองได้ว่า บวชเป็นพระแล้วหรือยัง โดยอาศัยหลักการอันนี้

    ถ้ามีปัญญาบ้าง ช่วยตัวเองให้บริสุทธิ์ได้บ้าง ช่วยคนอื่นให้บริสุทธิ์ได้ด้วยความกรุณาของตนบ้าง ก็เริ่มเป็นพระแล้วเริ่มพบพระแล้ว สมความมุ่งหมาย คือบวชได้บุญแล้ว ถ้ายังไม่มีปัญญาเลยยังไม่รู้ยังไม่เข้าใจอะไรเลย ทั้งเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องผิด เรื่องถูก ก็ทำให้ตนมีความดี ความบริสุทธิ์ อะไรไม่ได้ ช่วยให้ใครดีใครบริสุทธิ์อะไรก็ไม่ได้ ก็ยังไม่เป็นพระที่แท้จริง ยังไม่พบพระอย่างแท้จริง

    ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพยายามฝึกตนเพื่อเข้าทางต่อไป อย่าหยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ เป็นอันขาด เพราะจะทำให้บวชขาดทุน อันเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวง

การฝึกตนเพื่อเข้าทางสู่ความเป็นพระ ก็คือ

๑. ตั้งใจเรียนพระธรรมวินัย อันเป็นความรู้เรื่องความเป็นพระ
๒. ตั้งใจปฏิบัติพระธรรมวินัย อันเป็นวิธีการสร้างความเป็นพระ
๓. ตั้งใจปฏิบัติงานของผู้บวช เพื่อความเป็นพระที่สำคัญก็คือ การทำวัตรสวดมนต์ เช้าเย็น เพื่อยึดถือ พ่อพระ หรือหลักพระ คือ พระรัตนตรัย

    ถ้าไม่ฝึกสามประการนี้ หมดทางที่จะพบพระ หมดโอกาสที่จะเป็นพระแน่ และการฝึกสามประการนี้ก็ทำได้ง่าย ไม่มีความยากลำบากอย่างไร ถ้าเรามีศรัทธาต่อการบวช มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านภิกษุสามเณรเถรานุเถระทั้งหลายได้โปรดพิจารณาเรื่องนี้ด้วยดี จะเกิดความสุขใจและมีความแจ่มใสในตนเอง

    อีกประการหนึ่ง การที่มีโอกาสได้อยู่ในที่ปลอดภัยแม้เฉพาะในบางเวลาหาตลอดไปไม่ ก็เป็นความปลอดโปร่งของชีวิตที่มีคุณค่ามากหลาย ทำให้ได้พบรสชีวิตที่สดชื่นเยือกเย็น เป็นที่มาแห่งสติปัญญา เพื่อชีวิตที่ประณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไป โอกาสเช่นนี้หาได้จากการบวชเป็นส่วนใหญ่ ยากที่จะหาโดยการอื่นได้

    คำว่า ภัย หมายถึง ความหวาดระแวง ความวิตกกังวล หรือความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใจ ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางตัดรอน ทำลายล้างแนวความคิดที่ดีงาม หรือความคิดในการสร้างสรรค์ทุกประการ บั่นทอนสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจทุกด้าน เกิดจาก

๑. ความพอใจในกามารมณ์
๒. บรรยากาศที่มีกามารมณ์
๓. ความเลิศเลอต่ออิสรภาพของจิตใจ

ที่ที่มีความปลอดภัยตามลักษณะในตัวเอง ก็คือ

๑. วัดในพระพุทธศาสนา ที่มีสภาพเป็นวัด
๒. พระภิกษุสงฆ์ที่มีความเป็นพระภิกษุสงฆ์
๓. พระภิกษุที่ลักษณะเป็นพระภิกษุ

วัดในพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ทำงานของพระพุทธศาสนา คือ

๑. การสอนการเรียน
๒. การฝึกการอบรม
๓. การปฏิบัติการปลูกฝัง
๔. การบำเพ็ญบุญกริยา
เพื่อ….
๑. หลีกเลี่ยงจากมายา
๒. เข้าหาสัจธรรม

    อันนำไปสู่ความรอดพ้นจากปัญหาทั้งหลาย โดยพระภิกษุผู้ประกอบด้วยลักษณะตามพระพุทธประสงค์ คือ

๑. มีจิตใจประกอบด้วยเมตตา
๒. มีปฏิปทายึดพระธรรมวินัย
๓. มุ่งหมายความสงบ และความถูกต้อง
และโดยพระภิกษุสงฆ์ ผู้….
๑. มีความสงบเรียบร้อย
๒. มีความเจริญงอกงาม
๓. มีความสามัคคีปรองดอง

ลักษณะของวัด คือ

๑. สะอาดเรียบร้อย
๒. มีบรรยากาศเป็นธรรมชาติ
๓. สงบเงียบจากสิ่งที่เป็นมายา
๔. เหมาะสมแก่การเป็นอาราม และเป็นอาวาสของพระภิกษุทั้งหลาย
๕. เป็นที่ปลดทุกข์ของผู้มีทุกข์ และประสงค์จะออกจากทุกข์โดยทั่วไป

    ผู้ที่บวชเป็นพระ ตามความเข้าใจง่าย ๆ ในปัจจุบันนี้ ปรารถนาจะอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อจะได้พบพระตามความเป็นจริง ต้องปฏิบัติดังนี้

    ๑. แสวงหาวัดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัดตามที่ได้กล่าวมาให้มากที่สุด เป็นที่อยู่อาศัย

    ๒. หรือถ้าไม่เช่นนั้น ก็พยายามสร้างสรรค์สภาพวัดเอาเองจากวัดที่ตนได้เข้าอยู่อาศัยนั่นแหละ

    ๓. พยายามที่จะคุ้มครองตนไม่ให้ถูกวัดที่ไม่มีสภาพดังกล่าวกลืนกินเอาได้ จะมีโอกาสพบความปลอดภัยหรือความห่างภัยอันเป็นเป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่ง ของการบวช ในพระพุทธศาสนา

    ท่านเจ้าอาวาสก็ดี พระภิกษุสามเณรก็ดี ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาก็ดี จงพยายามที่จะรู้จัก

๑. ความเป็นวัดที่ถูกต้อง
๒. ความเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกต้อง
๓. ความเป็นพระภิกษุที่ถูกต้อง

ตามแนวที่ได้แนะนำมาแล้ว พยายามดำเนินการให้ใกล้แนวเข้าไปตามลำดับ แม้จะยังไม่ถึงทันทีก็ตาม

โปรดระลึกว่า

๑. เราไม่ทำ ใครจะทำ
๒. ทำดีกว่าไม่ทำ
๓. ตั้งใจทำ ดีกว่าสักแต่ว่าทำ

ประการสุดท้าย การบวชนี้ถ้าตั้งใจทำด้วยดี ตามความมุ่งหมายที่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดประโยชน์ ๓ ประการดังกล่าวมา ยังเป็นการสืบพระศาสนาให้เจริญมั่นคงต่อไปอีกประการหนึ่งด้วย

การสืบพระศาสนาเป็นมหากุศล เพราะพระศาสนามีคุณค่ายิ่งแก่บุคคล เป็น

๑. ทางดำเนินชีวิตที่ดีเลิศ
๒. เหมือนตำราครองชีวิตที่ดีเลิศ
๓. เป็นเครื่องป้องกันปัญญาชีวิต ทำลายล้างปัญหาชีวิตต่าง ๆ ได้ดีเลิศ

    โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเราเป็นศาสนาที่สุดประเสริฐ เพราะมุ่งหมายให้คนทำดีเพื่อช่วยตัวเองกรรมกับสังสารวัฏ เป็นระบบชีวิตของพุทธศาสนิกทั้งหลาย พุทธศาสนิกทั้งหลายทุกคนย่อมมีโอกาสในการพัฒนาชีวิตเท่าเทียมกัน

    จึงนับเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่บรรพบุรุษของไทยเราได้เอาพระพุทธศาสนามาประจำชาติด้วยปรีชาสามารถที่แสนประเสริฐหาที่เปรียบมิได้

    พระพุทธศาสนาสอนคนไทยให้รู้จักช่วยตนเองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายมาได้ด้วยดี คนไทยสามารถรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้ตลอดรอดฝั่งก็เพราะบารมีของพระพุทธศาสนา

    การรักษาการส่งเสริมพระพุทธศาสนา กับการรักษาส่งเสริมประเทศชาติ ต้องทำควบคู่กันทุกยุคทุกสมัย

    ถ้าพระพุทธศาสนาต้องมีอันเป็นไป ก็นับเป็นโชคร้ายของโลกที่ต้องสูญเสียสัจธรรมที่มีคุณค่ายิ่ง คือ คนต้องช่วยตัวเองด้วยความดีของตนไม่ว่าใคร เพราะจะไม่มีใครช่วยใครได้ ซึ่งถือว่า เป็นความยุติธรรมของโลกโดยแท้จริงหน้าที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยประการหนึ่ง คือ การสืบพระพุทธศาสนา การส่งเสริมพระพุทธศาสนา และการรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ต้องปฏิบัติการที่

๑. คำสอนของพระพุทธเจ้า
๒. พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
๓. พระภิกษุสงฆ์
๔. วัด

    พระพุทธศาสนาอยู่ที่องค์ประกอบทั้งสี่นี้รวมกัน ปฏิบัติให้คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความบริสุทธิ์ถูกต้อง คือ
๑. เป็นธรรมสามารถรักษาผู้ปฏิบัติให้อยู่ตามปกติได้
๒. เป็นสัจธรรมมีลักษณะเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้มิใช่เป็นมายา
๓. เป็นนิยยานิกธรรม คือ ธรรมที่นำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้

    เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวพัฒนาชีวิต มิใช่เป็นอาชีพ ปฏิบัติการให้พิธีกรรมทางพุทธศาสนาเป็นเครื่องเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ

    จัดงานพระพุทธศาสนา เพื่อพระพุทธศาสนามิใช่เพื่อเหตุอื่นใด
จัดงานวัด เพื่อวัดมิใช่เพื่อเหตุอื่นใด

อย่าเอางานวัดหาประโยชน์ให้ใคร
ปิดทองพระเพื่อพุทธบูชา มิใช่เพื่อหาเงินให้ใคร
การทำงานวัด งานพระศาสนา ต้องทำด้วยศรัทธาและความบริสุทธิ์ใจ

    พระภิกษุต้องเคารพสถานะและภาวะของตน เป็นผู้นำประชาชนไปสู่ความถูกต้อง ไม่ใช่เป็นผู้ตาม

    ประชาชนไปด้วยความผิดพลาดบกพร่อง เพื่อเขาจะได้เคารพนับถือและสนองผลตามที่ตนต้องการ

    บริหารวัดส่งเสริมวัดให้มีสภาพเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เป็นที่ผ่อนคลายความเครียด เป็นที่ควบคุมอารมณ์เป็นอุทยานแห่งชีวิต เหมือนสวนพฤกษาชาติ เป็นอุทยานแห่งร่างกายและจิตใจ

    ท่านพระเถรานุเถระและท่านภิกษุสามเณรทั้งหลายขอได้โปรดระลึกด้วยความภาคภูมิใจว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในความโชคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรากำลังบวชอยู่ในช่วงเวลาเข้าพรรษา ต่อไปยากที่จะพบโชคดีอย่างนี้ได้อีก

    จึงเป็นความเหมาะสมอย่างยิ่งที่เราจะต้องรีบแสวงหาสิ่งที่จะพึงได้จากการบวชในพระพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวมา ให้ได้ผลสมเจตนาของเราเอง และของทุกคนที่ปรารถนาดีต่อเรา

    โดยระลึกถึงพระดำรัสที่ตรัสเตือนไว้ว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา คราวที่เหมาะสมคือ โชคดีที่จะพึงแสวงหาสิ่งดีได้อย่าได้ผ่านโอกาสนั้นไปเฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะคนที่ปล่อยทิ้งความเหมาะสม จะเสียใจต่อภายหลัง

    แม้คำกล่าวอันเป็นคติชีวิตของบรรพบุรุษไทยของเราก็มีอยู่ประการหนึ่งว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก ซึ่งหมายความว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของร่างกายที่ทุกคนจำเป็นต้องตักเก็บไว้เป็นประจำ จะตักได้น้ำ ก็ต่อเมื่อน้ำขึ้นมา ถ้าเมื่อน้ำขึ้นมาไม่รีบตักก็จะต้องขาดน้ำแน่

    น้ำเพื่อชีวิต คือ คุณธรรม ความดีที่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ จะแสวงหาได้ก็ต่อเมื่อถึงโอกาสแห่งการแสวงหา เมื่อโอกาสแห่งการแสวงหามาถึง ไม่รีบแสวงหา ถ้าโอกาสนั้นไปแล้วจะไปหาที่ไหน แล้วจะสบายได้อย่างไร ใครจะหาอะไรให้เราได้ ถ้าเราไม่แสวงหาด้วยตนเอง การรู้จักการฉวยโอกาสควรถือว่าเป็นความฉลาดที่มีค่าประการหนึ่ง ซึ่งทำให้คนสามารถตั้งตนได้ จะนอนรอให้ราชรถมาเกย ให้เขามาเชิญไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนที่ลิเกเขาเล่นนั้น ไม่สำเร็จแน่

    จงคิดกำหนดโครงการ และลงมือทำวันนี้เถิด ตามคำเตือนของพระพุทธเจ้าที่ทรงเตือนไว้ว่า

    อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ สิ่งควรทำต้องทำวันนี้จะได้ผล จะผลัดไปทำวันพรุ่งนี้ อาจไม่ได้ทำ

    อาตมาได้ทบทวนเรื่องประโยชน์ของการบวชพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติลงเพียงเท่านี้

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›