๑๘/๓๘ ศาสโนวาท กัณฑ์ที่ ๗ : มิตรธรรม – ธรรมครองใจมิตร

พระเทพสิงหบุราจารย์

นมตฺถ สุคตสฺส
พหุตพฺภกฺโข ภวติวฺปวุตฺโถ สกํ ฆรา
พหูนํ อุปชีวนฺติ โยมตฺตานํ น ทุพฺภติ
เตมิยภษิต

    การสงเคราะห์ญาติและมิตรเป็นอนวัชชกิจ โบราณบัณฑิตได้บำเพ็ญเป็นอาจิณวัตร บุคลที่นับถือว่าเป็นญาติก็เพราะนับว่าเป็นผู้เนื่องกันโดยกุลสัมพันธ์ ที่คบกันเป็นมิตรก็เพราะป็นผู้ถูกอัธยาศัยรวมกันในกิจการนั้น ๆ ความวิสาสะกันโดยสังคหกิจย่อมผูกจิตให้สนิทกัน ต้องตามพุทธภาษิตว่า วิสาสปรมา ญาตี ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงมิตรธรรมเกี่ยวกับญาติสัมพันธ์ ความคุ้นเคยนั้นสำเร็จด้วยไมตรีจิต ทำให้สนิทสนมกันด้วยสังคหธรรม คนอื่นที่มิใช่ญาติ ถ้าคบกันสนิทแล้วก็เหมือนญาติที่สนิท จัดว่าเป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ผู้ที่เป็นญาติถ้ามีมิตรธรรมประกอบกันย่อมเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้สนิทสนมสถาพร เป็นบ่อเกิดแห่งสวัสดิมงคล ชนผู้รักใคร่กันสนิทชื่อว่ามิตร ต้องด้วยพุทธภาษิตว่า มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร มารดาชื่อว่าเป็นมิตรในเรือนของตน คนผู้มีเมตตาต่อกันก็ชื่อมิตรได้

    ในพุทธภาษิตว่า อริยมิตฺโก สิยา ชนผู้ควรจะทำอริยบุคคลให้เป็นมิตร กล่าวโดยเฉพาะ สหายผู้สนิทและผู้มีเมตตาชื่อว่ามิตรได้

    ในคำว่า ปาปมิตฺโต กลฺยาณมิตฺโต มีมิตรเลว มีมิตรดีโดยนัยนี้ ผู้ที่สนิทสนมกัน มีเมตตาต่อกันได้ชื่อว่ามิตรทั้งนั้น มิตรนั้นมีทั้งชั่วทั้งดี มิตรชั่วเรียกว่า ปาปมิตร มิตรดีเรียกว่า กัลยาณมิตร

    มิตรนั้นย่อมเป็นปัจจัยภายนอกอันแรงกล้า ที่จะพาผู้คบหาให้ถึงความเจริญหรือความเสื่อม สมเด็จพระโลกนาถเจ้าจึงตรัสว่า
พาหิรํ ภิกฺขเว องฺคนฺติ กริตฺวา นญฺญํ เอกงฺคมฺปิสมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ มหโต อนตฺถาย สํวตฺตติ ยทิทํ ภิกฺขเว ปาปมิตฺตา

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทำปัจจัยภายนอกให้เป็นเหตุแล้วเราย่อมไม่แลเห็นเหตุ แม้อันหนึ่งอื่นอันจะเป็นไปเพื่อความเสียหายอย่างใหญ่ เหมือนความเป็นผู้มี มิตรชั่ว ความเป็นผู้มีปาปมิตรย่อมเป็นไปเพื่อความเสียหายอย่างใหญ่ อีกอย่างหนึ่งเราย่อมไม่แลเห็นเหตุอันหนึ่งอื่นเหมือนกัน อันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดี

    ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ในสิงคาโลวาทสูตร ตรัสเรียกปาปมิตรว่ามิตรปฏิรูปคือมิตรเทียม ตรัสเรียกกัลยาณมิตรว่าสุหัท คือ คนใจดี จัดว่าเป็นมิตรแท้ ทรงจำแนกลักณะมิตรเทียมและมิตรแท้ไว้ฝ่ายละ ๔ พวก

    มิตรเทียมนั้นคือ เป็นผู้ปอกลอก เป็นผู้พูดไม่จริง เป็นผู้ประจบ เป็นผู้ชักพาในทางฉิบหาย

    มิตรแท้นั้นคือ เป็นผู้อุปการะเกื้อหนุนกันจริง เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กันได้ เป็นผู้แนะนำในทางที่เป็นประโยชน์เป็นผู้เอ็นดูรักใคร่จริง

    ครั้นทรงแสดงลักษณะแห่งมิตรเทียมและมิตรแท้ดังนี้แล้ว ตรัสให้เว้นมิตรเทียมเสียให้ห่างไกล เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัยอันตราย พระองค์ตรัส ให้เขาหามิตรแท้เหมือนมารดาไม่ทิ้งบุตร ฉะนั้นกัลยาณมิตรหรือมิตรแท้นั้นท่านพรรณนาว่า เป็นปัจจัยแห่งความเจริญทั้งที่เป็นส่วนโลกิยะและโลกุตตระ เมื่อได้มิตรเช่นนั้นพึงผูกใจไว้ด้วยสังคหวิธีตามควร ดังพระบรมพุทโธวาท ตรัสสอนสิงคาลกมาณพคหบดีบุตรว่า ปญฺจหิ โข คหปติปุตฺต กุลปุตฺเตน อุตฺตราทิสา มิตฺตามจฺจา ปจฺจุปฏฺฐาตพฺพา ดูก่อนคหบดีบุตร มิตรเปรียบด้วยทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรพึงบำรุงมิตรด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ

ทาเนน           ด้วยการให้ปัน
เปยฺยวชฺเชน    ด้วยการกล่าวถ้อยคำที่น่ายินดี
อตฺถจริยาย      ด้วยประพฤติการที่เป็นประโยชน์แก่มิตร
สมานตฺตตาย   ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอไม่ถือตัว ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
อวิสํวาทนตาย  ด้วยคำพูดซื่อตรงไม่หลอกลวงกัน

    ดูก่อนคหบดีบุตร มิตรอันเปรียบด้วยทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรบำรุงด้วยฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว ปญฺจหิ ฐาเนหิ กุลปุตฺตํ อนุกมฺปนฺติ มิตรย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยฐานะ ๕ ประการคือ
๑. กุลบุตรนั้นเลินเล่อเผลอสติย่อมเอาใจใส่ระวังรักษาเขา
๒. ย่อมป้องกันรักษาทรัพย์สมบัติของเขา
๓. เมื่อมีทุกข์ร้อนย่อมเป็นที่พึ่ง
๔. ย่อมไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๕. ย่อมนับถือครอบครัววงศ์วานของเขา

    ผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะแห่งมิตรพร้อมด้วยมิตรธรรมเช่นนี้จัดว่าเป็นมิตรดี มีความซื่อตรงต่อมิตร ย่อมเป็นที่นิยมนับถือของประชาชน พ้นจากภัยอันจะบังเกิดแต่ศัตรูหมู่อมิตร ต้องด้วยภาษิตของพระโพธิสัตว์ ครั้งเสวยพระชาติเป็นเตมิยกุมาร ตรัสแก่นายสุนันทสารถี โดยนิพนธ์คาถาดังนี้ว่า

    บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรแท้ จากบ้านเรือนของตนไป ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาหาร คือมีผู้คนต้อนรับสักการะด้วยความนิยมนับถือ ได้เป็นที่พึ่งแห่งอุปชีวกชนเป็นอันมาก

    บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไปสู่ชนบทใด ๆ ก็ดี สู่นิคมราชธานีทั้งหลายก็ดี ย่อมเป็นผู้ที่เขาบูชา คือได้รับการต้อนรับในที่เหล่านั้นทุกตำบล
ตัวอย่างดังจิตตคหบดีในมัจฉิกาสัณฑนคร ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอารีต่อญาติมิตร เป็นที่นิยมนับถือของประชาชนเกียรติคุณของท่านขจรไปทั่วทิศ ท่านได้สร้างสังฆารามชื่อว่าอัมพาฏกวัน ได้ฟังธรรมเทศนาในสำนักพระมหานามและพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร บรรลุโสดาปัตติผลและอนาคามิผลโดยลำดับ

    ท่านจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ พระนครสาวัตถี จัดเครื่องไทยธรรมบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่มสำหรับบำเพ็ญทานมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปด้วยเป็นอันมาก เดินทางไปถึงประเทศใด ประชาชนในประเทศนั้นก็พากันต้อนรับสักการะด้วยเครื่องบรรณาการเป็นลำดับไป แม้นไปถึงสำนักพระบรมศาสดาแล้ว ชาวเมืองสาวัตถีก็ต้อนรับและสักการะด้วยเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก ท่านเลี้ยงดูคฤหัสถ์ บรรพชิต พวกที่มาด้วยและพระสงฆ์ในพระเชตวันด้วยเครื่องบรรณาการที่ประชาชนนำมาสักการะ ไม่มีโอกาสที่จะบำเพ็ญทานด้วยไทยธรรมของตน จนเวลากลับต้องถวายเครื่องไทยธรรมนั้นไว้ในพระเชตวัน ท่านว่าเกิดกับปิยภูมิที่เก็บปิยวิตถุในพระศาสนาแต่นั้นมา

    เรื่องนี้สาธกให้เห็นว่า คุณความดีจัดความอารีเข้าด้วยเป็นเหตุปลูกความนิยมของประชาชน แม้จากบ้านเรือนไปก็ได้รับการต้อนรับสักการะด้วยความเต็มใจ ได้เป็นที่พึ่งแห่งอุปชีวิกชนเป็นอันมาก

    บุคคลที่ไม่ประทุษร้ายมิตร โจรทั้งหลายไม่อาจย่ำยีได้ เพราะพวกพ้องมาก มีตาหูรอบข้าง เจ้านายก็ไม่รังเกียจเพราะเหตุคุณความดีย่อมพ้นจากสรรพศัตรูหมู่อมิตร ด้วยอำนาจสุจริตกับใจมิให้คิดประทุษร้าย ดังตัวอย่าง ฑีฆาวุกุมาร

    พระราชโอรสของพระเจ้าฑีฆีติ ผู้ครองโกศลรัฐ เธอประสูติเมื่อพระชนกเสียพระราชสมบัติ พบพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้ครองแว่นแคว้าชนกาสี แล้วตั้งพระทัยจะแก้แค้นเอาพระราชสมบัติของบิดาคืนให้จงได้ เพียรหาช่องเข้าใกล้พระเจ้าพรหมทัตต์จนได้เป็นสารถีคนโปรด

    คราวหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตต์เสด็จประพาสป่า ฑีฆาวุกุมารแสร้งขับรถพระที่นั่งเร็วจนข้าราชบริพารตามเสด็จไม่ทัน ท้าวเธอทรงเหนื่อยก็ตรัสสั่งให้หยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงพัก ณ ที่แห่งหนึ่งแล้วบรรทมหลับไป ฑีฆาวุกุมารได้ช่องที่จะแก้แค้น จึงถอดพระแสงจากฝักแล้วปลุกบรรมทมขึ้นแสดงตนให้ทรงทราบว่าเป็นศัตรูจะแก้แค้นแทนพระราชบิดาพระเจ้าพรหมทัตต์ตกพระทัยขอพระชนม์ชีพ พระกุมารนึกถึงพระวาจาของพระราชบิดาว่า จงเห็นยาวดีกว่าสั้น ทั้งตนก็ได้รับพระราชอุปถัมภ์จากท้าวเธอ ทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ จึงยอมสมัครระงับเวร ถวายพระชนม์แด่พระจ้าพรหมทัตต์ สองกษัตริย์สมัครสโมสรร่วมสามัคคีเป็นไมตรีกัน ฑีฆาวุกุมารได้ราชสมบัติคืนพร้อมทั้งพระราชธิดา ภายหลังได้ครองแคว้นกาสีอีกด้วย

    ฑีฆาวุกุมารรอดกลั้นความแค้นไว้ได้ ไม่ทำร้ายพระเจ้าพรหมทัตต์ในเมื่อมีโอกาสทำได้ถนัด จัดว่าไม่ประทุษร้ายมิตร แม้พระเจ้าพรหมทัตต์จะเป็นศัตรูอยู่ก่อน แต่ภายหลังได้ทรงอุปถัมภ์ก็จัดว่าเป็นมิตร อาศัยคุณข้อนี้พระกุมารจึงไม่เป็นที่รังเกียจของพระเจ้าพรหมทัตต์ ชาวกาสิกรัฐ ซึ่งเป็นอมิตรก็กลับจิตเป็นไมตรีทั่วรัฐมณฑล จัดว่าไม่เป็นที่รังเกียจของเจ้านายและล่วงอมิตรได้

    บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรย่อมได้ความยินดีปรีดาในสภาที่ประชุม เพราะมีผู้นิยมต้อนรับนับถือ ไม่ต้องโกรธกลับมาเรือนตน เป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งหมู่ชนผู้เป็นญาติด้วยสามารถเชิดชูให้มีเกียรติ ฑีฆาวุกุมารได้รับความนิยมยกย่องนับถือในสภาของกาสิกรัฐ กลับไปสู่บุรีของตนโดยกมลชื่นบาน เชิดชูเกียรติของชาวโกศลทั่วรัฐมณฑล จัดว่าเป็นผลของมิตรธรรมในคาถานี้
๑. สักการะเขาแล้วย่อมเป็นผู้ที่เขาสักการะตอบ
๒. เคารพเขาแล้วเป็นผู้ที่เคารพของเขา
๓. บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมได้รับการยกย่องและเกียรติคุณ
ฑีฆาวุกุมารสักการะเคารพพระเจ้าพรหมทัตต์ โดยถวายพระชนม์ชีพและประพฤติตนอ่อนน้อมเหมือนดังก่อน

    พระเจ้าพรหมทัตต์ก็พระราชทานอภัย และทรงยกย่องให้มีเกียรติในคณะอำมาตย์ราชเสวกของพระองค์ เป็นอันว่าได้สักการะตอบ ได้เคารพตอบ ได้รับความยกย่องและเกียรติคุณเป็นอย่างสูง

    อีกเรื่องหนึ่ง เศรษฐีในเมืองพาราณสีคิดจะค้าไม้จันทน์เป็นสินค้าจำหน่าย จึงเอาผ้าและอาภรณ์จำนวนมากบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่มไปถึงปัจจันตคาม สืบถามได้ความว่า มีบุรุษผู้หนึ่งบ้านอยู่ ณ เชิงเขา ได้ทั้งชื่อของเขารวมทั้งภรรยาและบุตรธิดาของเขา จึงไปบ้านนั้นโดยอาการแห่งคนคุ้นเคยกัน เวลานั้นสามีไปป่า แต่ภรรยาทักทายปราศรัยแบบกันเอง ให้การรับรองต้อนรับโดยเข้าใจว่าเป็นญาติ เศรษฐีพอนั่งก็ถามว่าสหายของเราไปไหน เมื่อเขาตอบว่าไปป่าก็ถามถึงบุตรธิดาต่อไป ระบุชื่อได้ทุกคนแล้วมอบผ้าและอาภรณ์ให้หญิงนั้น แล้วสั่งว่านี่ให้บุตรของท่านชื่อนั้น นี่ให้ธิดาของท่านชื่อนี้ นี่จงให้แก่สหายของเรา

    พอสามีกลับมาภรรยาก็แจ้งให้ทราบทุกประการ บุรุษนั้นก็ทำกิจที่ควรทำโดยฐานมิตรเป็นอย่างดี ครั้นคุ้นกันสนิทแล้ว เศรษฐีจึงถามว่าเธอเที่ยวอยู่ ณ เชิงเขาพบอะไรเป็นส่วนมาก เมื่อเขาตอบว่ามีแต่ไม้กิ่งแดงเป็นส่วนมาก จึงให้นำไปตรวจดู เห็นเป็นไม้จันทน์แดงสมประสงค์ ก็ตัดบรรทุกเกวียนเต็มทั้ง ๕๐๐ เล่ม แล้วบอกบุรุษให้รู้จักบ้านของตน สั่งว่าเธอจงไปหาเราเสมอ ๆ ของฝากอย่างอื่นเราไม่ต้องการ ต้องการแต่ไม้กิ่งแดงนี้เท่านั้น

    บุรุษนั้นนำไม้จันทน์แดงไปหาเศรษฐีเป็นนิตย์ เศรษฐีได้รับรองเป็นอย่างดี และให้ทรัพย์แก่เขาคราวละมาก ๆ นับถือกันฉันมิตรสหายตั้งแต่นั้นมา บุรุษนั้นก็สมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ มีผู้คนนิยมนับถือเป็นอันมาก นี่แสดงให้เห็นว่าสักการะเขาแล้วก็ย่อมเป็นที่สักการะของเขา เคารพเขาแล้วก็ย่อมเป็นที่เคารพของเขา อุปถัมภ์กันให้สมบูรณ์ด้วยลาภยศเกียรติคุณ สำเร็จด้วยคุณข้อนี้ประการหนึ่ง

    ผู้บูชาย่อมได้บูชาตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้ไหว้ตอบ ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรย่อมได้ยศและชื่อเสียง ฑีฆาวุกุมารบูชาพระเจ้าพรหมทัตต์ด้วยกิริยาที่นับถือโดยสุจริต พระเจ้าพรหมทัตต์ก็ทรงนับถือพระกุมารอย่างอุกฤษฏ์เท่าราชวงศ์ของพระองค์ พระราชทานพระราชธิดาและคืนโกศลรัฐให้เป็นอันว่าได้บูชาตอบความสมบูรณ์ด้วยเกียรติยศ เกียรติคุณนั้นสำเร็จด้วยคุณข้อนี้ประการหนึ่ง

    อีกเรื่องหนึ่ง คนรับใช้ของท่านจุลกเศรษฐี ได้อุปเท่ห์คือคำแนะนำจากท่านเศรษฐีนั้น ประกอบพาณิชยกรรมถูกคราวนิยม สั่งสมโภคทรัพย์เป็นอันมากขึ้นได้ในไม่ช้า ท่านว่ามีจำนวนสองแสนกษาปณ์ เธอนึกเห็นว่าเป็นลาภได้เพราะท่านเศรษฐีนี้ จัดเป็นกตัญญูรู้คุณท่าน เธอแบ่งทรัพย์นั้นให้ท่านเศรษฐีแสนหนึ่งเพื่อบูชาอุปการคุณท่าน และแจ้งให้ท่านทราบแต่ต้นเป็นลำดับมา นี้จัดเป็นกตเวทีทำอุปการคุณของท่านให้ปรากฏ ท่านเศรษฐีเห็นคุณความดีของเธอทั้งปัญญา ความเพียรและอัธยาศัย จึงยกธิดาของตนให้เป็นภรรยากับทรัพย์อีกสองแสน เมื่อเศรษฐีสิ้นชีวิตไปเธอได้เป็นเศรษฐีใหญ่ในพระนครพาราณสี นี้สาธกให้เห็นว่าผู้บูชาย่อมได้บูชาตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ ได้เกียรติคุณเพราะความซื่อตรงต่อมิตร บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรย่อมรุ่งเรืองดุจไฟ ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดา สิริคือมิ่งขวัญย่อมไม่ละเขา

    บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร จำรูญพูนย่อมเกิดแก่เขา พืชพันธุ์ที่หว่านในนาของเขาย่อมงอกงามจำเริญ เขาย่อมได้บริโภคผลแห่งพืชพันธุ์ที่หว่านแล้ว ดังตัวอย่างที่สาธกมาฑีฆาวุกุมารแม้เสียบ้านเมืองแล้วก็ยังได้คืน และกลับได้แคว้นกาสีเป็นรัฐสมบัติ ขอนี้เทียบได้ดังภาษิต บุคคลไม่ประทุษร้ายมิตร แม้ตกเหวหรือตกเขา หรืออับปาง ย่อมได้ที่พำนักไม่ตกอับ

    บุคคลไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูหมู่อมิตรไม่อาจย่ำยีได้ดุจไม้ไทรมีรากและย่านอันงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มไปได้ฉะนั้น โดยนัยนี้ให้ความหมายว่า ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรและเข้าใจในอุบายสงเคราะห์มิตร ย่อมเป็นที่รักของประชาชน มีพวกพ้องมาก ผู้น้อยเป็นที่รักของท่านผู้ใหญ่ก็จะได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชู คนที่เสมอกันต่างก็จะได้อาศัยกัน ท่านผู้ใหญ่เล่าก็จะได้ผู้น้อยไว้เป็นกำลัง แม้กิจเกิดขึ้นก็จะตั้งใจทำให้สำเร็จด้วยความภักดี สามัคคีคือความพร้อมเพรียงด้วยกายและจิต ก็ย่อมเป็นไปเพราะความรักใครเป็นที่ตั้ง เมื่อเกิดขึ้นในหมู่ใดก็ยังความเจริญให้เป็นไปในหมู่นั้น สมด้วยภาษิตว่า พวกที่หาพวกพ้องมิได้ ไม่สามารถทรงตนอยู่ได้ เหมือนต้นไม้ไร้ราก ไร้กิ่ง ทนพายุไม่ได้ฉะนั้น คุณคือความมีพรรคพวกมากเป็นกำลังเครื่องตั้งมั่นของตนเหมือนต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงมั่นในพสุธา ตั้งลำต้น แตกสาขางอกงามวัฒนา พายุพัดมาทั้ง ๘ ทิศก็ไม่อาจให้ล้มไปได้ฉะนั้น

    ความซื่อตรงต่อมิตร เว้นประทุษจิต ไม่คิดทำลายเป็นคุณอำนวยสุขสมบัติอัฐวิบูลผล ตามภาษิตนิพนธ์ของพระเตมียโพธิสัตว์ มีอรรถาธิบายดังที่ได้วิสัชนามา

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›