๑๗/๒๐ ศาสโนวาท กัณฑ์ที่ ๓ : ความเที่ยงธรรม

พระเทพสิงหบุราจารย์

    ธรรมที่จะแสดงนี้ คือความประพฤติเที่ยงธรรมตามหน้าที่ ตามหน้าที่ข้อนี้เป็นหลักแห่งความประพฤติอย่างสำคัญ ที่จะทำหมู่คณะให้เรียบร้อยรุ่งเรืองไพศาล คนเราที่ตั้งเป็นหมู่เป็นสมาคมทำกิจการไม่ว่าชนิดไร ต้องมีผู้ใหญ่ผู้น้อยบังคับบัญชาซึ่งกันและกัน ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติสกุล ความรู้ความสามารถ จัดเป็นผู้ใหญ่ในสมาคม ที่ต่ำกว่านั้นก็ลดหย่อนกันตามขั้นเป็นลำดับไป ต่างคนต่างประพฤติตามหน้าที่ของตน

หน้าที่ของผู้ใหญ่
    ผู้ใหญ่ประพฤติตามฐานที่เป็นผู้ใหญ่ คือบำรุงอัธยาศัยยึดหน่วงธรรมเป็นบรรทัด ธรรมสำหรับผู้ใหญ่มี ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    เมตตา คือ แผ่ไมตรีจิตสนิทสนมในผู้น้อย หวังความดีความงามแก่เขา กล่าวสั้นๆก็คือความปรารถนาจะให้เขาพ้นจากอาฆาตบาดหมางกัน มิให้เบียดเบียนกัน ให้สามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หวังให้เขาเจริญด้วยความรู้ความสามารถ อันเป็นทางให้เกิดลาภยศ ชื่อเสียง รักษาตนให้ได้รับความสุขโดยสวัสดี คุณข้อนี้เป็นเครื่องบำรุงอัธยาศัยให้คิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน ชำระล้างได้ซึ่งมลทินคือตัวพยาบาท ความคิดเปล่าประโยชน์ ด้วยอำนาจความโกรธเรียกว่าพยาบาทนี้เป็นความคิดวิปริต เมื่อมีอยู่ในดวงจิต ย่อมชักจูงการทำการพูดให้วิปริตไปทางนั้น บั่นใจของหมู่คณะให้ขาดนิยม ย่อมทำหมู่สมาคมให้เสื่อมทราม เมื่อมีเมตตาอยู่ในใจก็จะรักษาน้ำใจมิให้คิดวิปริตเช่นนั้น

    กรุณา คือ ความคิดสงสารแก่ผู้ที่ต้องทุกข์ยาก ข้อนี้เมื่อมีประจำเวลาเขาได้ทุกข์ยาก ก็รู้สึกสงสารหวั่นใจไปตาม เป็นเครื่องปราบปรามจิต ไม่ให้คิดเบียดเบียนเขาให้ได้รับความลำบาก ขั้นต้นต้องมีความลำบากกายลำบากใจเป็นธรรมดา การทำกิจที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ความลำบากก็จำเป็นต้องมี คนเราที่เกิดมาในโลกไม่เลือกว่าท่านผู้ใดที่จะไม่ลำบากไม่มีเลย แม้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายซึ่งทรงเป็นผู้มุ่งหมายความสงบในทางธรรม ขั้นต้นก็ต้องทรงลำบากกรากกรำ ได้รับความลำบากทั้งกายทั้งใจ แม้ถึงได้บรรลุผลตามที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ก็ทรงกรากกรำพระวรกายเที่ยวสั่งสอนประชุมชน ไม่ย่อท้อต่อเครื่องกระทบกระทั่ง ทรงมุ่งหมายแต่จะให้ประชุมชนพ้นจากทุกข์อันเป็นผลจากความประพฤติไม่ชอบธรรม ไม่ทรงถือถ้อยคำแม้ที่กล่าวล่วงเกินต่อพระองค์ ทรงเห็นตามพุทธนิพนธ์ที่ตรัสไว้ว่า เราอดทนถ้อยคำที่กล่าวล่วงเกินได้ ดุจพระยาช้างที่เข้าสงคราม อดทนต่อลูกศรอันตกจากแหล่งฉะนั้น เพราะคนทุศีลมีอยู่มากแม้ถึงพระจริยาของพระองค์ก็มีปรากฏ ดังเมื่อเวลาจวนจะนิพพาน สุภัททปริพพาชกเข้ามาเฝ้า พระอานนท์ห้ามไม่ให้เข้าไป ครั้งทรงทราบก็ยังประทานโอกาสให้เข้าเฝ้า ทรงสั่งสอนจนสุภัททปริพพาชกได้รับผลในทางพระศาสนา นี้ก็แลเห็นได้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกรากกรำลำบากถึงที่สุด ทรงมุ่งประโยชน์แก่ประชุมชน

    ในทางโลก ผู้ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในสมาคมตั้งต้นแต่พระมหากษัตริย์ ก็ทรงกรากกรำลำบาก ทรงมุ่งความเจริญแก่หมู่คณะ ความลำบากเพราะกิจการที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นของคนที่เกิดมาในโลก แม้ถึงพระบรมศาสดาก็ตรัสสรรเสริญผู้ที่บากบั่นทำกิจกรรมตามหน้าที่ โดยพุทธภาษิตความว่า ผู้ตั้งความเพียรบากบั่นมั่งคงเป็นอยู่วันหนึ่ง ดีกว่าคนเกียจคร้านมีความเพียรเลวทรามเป็นอยู่ตั้งร้อยปี

    พระพุทธภาษิตข้อนี้อธิบายว่า คนเกียจคร้านย่อมไม่ทำกิจการที่เป็นคุณประโยชน์แก่หมู่คณะ แม้จะอายุยืนตั้งร้อยปี ก็ทำอายุให้เป็นอยู่นั้นให้เป็นหมันหาประโยชน์มิได้ ส่วนผู้ที่มีความเพียร จะมีอายุสักเท่าไรก็ตาม ย่อมบากบั่นทำคุณทำประโยชน์แก่หมู่คณะ ด้วยกำลังกายและกำลังความคิดไม่ปล่อยวันคืนที่เป็นอยู่ให้ล่วงไปเปล่า เพราะฉะนั้น กิจการที่เป็นหนทางแห่งความเจริญแม้จะลำบากก็จำเป็นต้องยอม

    ที่ว่าคิดให้เขาได้รับความลำบากเป็นความเสียหายนั้นหมายเอาความคิดด้วยอำนาจจิตที่เป็นบาป เช่นรังแกเขาเล่นด้วยความคะนอง หรือให้เขาทำกิจการที่ไม่จำเป็น โดยไม่ได้เหลียวแลความลำบากของเขา ความคิดเช่นนี้ท่านจัดเป็นฝ่ายชั่ว เมื่อมีกรุณากำกับอยู่กับใจก็จะปราบปรามเสียได้ ไม่คิดเบียดเบียนให้เขาลำบากเช่นนั้น เมื่อเห็นคนหรือสัตว์ได้รับความลำบาก เพราะโรคภัยก็ดี เพราะต้องอันตรายอย่างอื่นๆก็ดี รู้สึกสงสารคิดแก้ไขช่วยเหลือโดยหนทางอันชอบธรรม นี้เป็นลักษณะแห่งกรุณา

    มุทิตา คือ ความชื่นบานในเวลาที่เขาได้นับความดี เมื่อเขามีความเจริญด้วยความรู้ความสามารถก็ดี ด้วยลาภ ยศก็ดี พลอยชื่นชมยินดีตาม คุณข้อนี้เมื่อมีอยู่ในใจ ย่อมปราบปรามความริษยาในความดีของผู้อื่นลงได้ เมื่อเขาได้รับความดี ถ้ามีความริษยาจะอดทนอยู่ไม่ได้ คิดเคืองขุ่นงุ่นง่านไปต่างๆ ความริษยานี้เป็นโทษทำลายความเจริญแห่งหมู่คณะ ตัดทอนความสามัคคีอาจทำหมู่คณะให้แตกทำลาย เพราะเมื่อเกิดขึ้นย่อมชักนำจิตให้วิปริตไปต่างๆ ทำให้หดหู่ท้อถอยต่อกิจการอันเป็นหน้าที่ของตน คิดอุบายทำลายเขาโดยทางทุจริต คิดส่อเสียด

    ยุยงโดยเหตุที่ไม่เป็นจริง จัดเป็นความชั่วร้ายอย่างสำคัญ เมื่อยึดถือมุทิตาเป็นหลัก ก็อาจปราบปรามตัวริษยานั้นเสียได้ เมื่อชื่นชมยินดีในความดีของเขา เขาก็มีความนิยมนับถือ ข้อนี้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงเป็นคุณสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ ผู้ที่ปกครองหมู่คณะจะต้องประพฤติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อใครประพฤติก็ต้องชมเชยยกย่อง เมื่อใครประพฤติชั่วก็ต้องติและลงโทษตามความผิด ไม่ทำตนให้โอนเอียงด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คิดประทุษร้ายต่อคนที่ตนไม่ชอบ ลงโทษแก่คนไม่มีความผิดยกย่องคนที่ไม่มีความดีโดยหลงเชื่อผู้อื่น

    ไม่ตริตรองสอบสวนโดยรอบคอบ กลัวเกรงต่อผู้ที่มีอำนาจ ไม่อาจทำกิจให้เที่ยงธรรม ประพฤติตนไม่สม่ำเสมอ หากไม่เชือนแชด้วยอคติดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าอุเบกขาวางตัวเป็นกลาง

    ผู้ที่บำรุงอัธยาศัยให้ตั้งอยู่ในคุณ ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังพรรณนานี้ นับว่ามีความประพฤติเที่ยงธรรมตามฐานของผู้ใหญ่

หน้าที่ของผู้น้อย
    ผู้น้อยก็ต้องประพฤติตามหน้าที่ของตน กล่าวคือ มีความเคราพนับถือผู้ใหญ่ ไม่แสดงกิริยาเย่อหยิ่ง ตั้งอยู่ในโอวาทบังคับบัญชา ไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง มีความสวามิภักดิ์จงรักภักดี ประพฤติตนให้สมควรแก่หน้าที่ คือ ไม่เกียจคร้านหมั่นทำกิจการ ไม่ต้องตักเตือน ไม่หลบหลีก เกี่ยงงอนทำให้เสียการงาน ถือเอาแต่สิ่งที่ตนควรจะได้ ไม่ทำตนให้เสียสมบัติในทางลาภผล ตั้งใจกวดขันทำการงานมิให้ล่วงเวลา มุ่งหมายแต่ที่จะให้ดำเนินไปสู่ความเจริญเจรจายกย่องผู้ใหญ่ของตนตามคุณงามความดีของท่าน ไม่หลบหลู่บุญคุณ ไม่ติเตียนใส่ความโดยฐานทุจริต ตามที่พรรณนามานี้เป็นหน้าที่ของผู้น้อย

    ผู้ใหญ่ผู้น้อย ต่างประพฤติเที่ยงธรรมตามหน้าที่ของตนดังพรรณนามา ก็จะมีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความระแวงความกินแหนงก็จะไม่บังเกิดขึ้นในระหว่างกันและกัน หากเป็นดังนี้ ความเจริญไพศาล ก็จะบังเกิดขึ้นแก่สมาคม

    เวลาที่ยังเป็นเด็กเป็นนักเรียน ก็จงตั้งใจปฏิบัติให้เต็มตามหน้าที่ หมั่นศึกษาให้มีความรู้สมควรกับหน้าที่ อย่าทำตนให้เสียหายเพราะความประพฤติ เวลาครูสอนจงตั้งใจรับฟังโอวาทโดยความเคราพ เมื่อสำเร็จจากการศึกษาแล้ว ก็จงประพฤติเที่ยงธรรมตามหน้าที่ สมควรแก่ฐานะของตน ตั้งใจสวามิภักดิ์จงรักภักดีผู้ใหญ่ของตน ตั้งต้นจากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งชาติ

    ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ หน้าที่ของทหารต้องเป็นผู้ไม่หวาดหวั่นต่อความลำบากและภยันอันตรายอันเกิดขึ้นในหน้าที่ของตน เมื่อถึงเวลาต้องเป็นคนกล้าหาญ ไม่อาลัยแม้ชีวิต บากบั่นทำกิจให้สำเร็จตามหน้าที่ บำรุงอัธยาศัยให้ประกอบด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้อยู่ในบังคับบัญชาของตนมีเรื่องหนึ่งควรจำไว้เป็นตัวอย่างดังนี้

    บุรุษผู้หนึ่งซึ่งท่านกล่าวว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ตั้งบ้านอยู่ปากดง รับนำทางส่งหมู่เกวียนของพวกพ่อค้าให้พ้นจากดงอันเป็นทางกอปรด้วยอันตราย วันหนึ่งนำทางพวกพ่อค้าหมู่หนึ่งไปถึงกลางดง พบพวกโจรจะเข้าปล้นพวกพ้องของบุรุษนั้น พวกพ่อค้าพากันยกท้อ แต่บุรุษนั้นกล้าหาญไม่ครั้นคร้ามต่อสู้พวกโจรจนชนะ พาพวกพ่อค้านั้นพ้นจากดงโดยสวัสดี พวกพ่อค้าถามเหตุที่ไม่หวาดหวั่น เขาตอบว่า “ได้ปลงใจยอมเสียชีวิตไว้ก่อนแล้ว เพื่อจะทำธุระให้เต็มตามหน้าที่ ใจเขาจึงเบิกบานไม่หวาดหวั่น ได้สู้พวกโจรจนชนะด้วยเหตุนี้” นี่เป็นตัวอย่างที่พวกทหารควรจำไว้เป็นหลัก อันคนกล้าย่อมไม่อาลัยในชีวิต จึงอาจทำกิจให้สำเร็จตามหน้าที่ของตน

    ความประพฤติเที่ยงธรรมตามหน้าที่ ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นความสัตย์ เพราะสำเร็จด้วยน้ำใจจริง ความสัตย์ เป็นเครื่องปลูกความชื่นบานซาบซ่านจับใจของประชุมชนทุกหมุ่เหล่าไม่มีรสอะไรที่จะเสมอ อาหารที่มีอยู่ในหมู่มนุษย์ แม้จะมีรสดีสักเพียงใด ก็ไม่เป็นที่นิยมพึงใจแก่บุคคลทั่วประเทศ ทั้งยังมีเวลาเบื่อไม่คงที่เหมือนรสความสัตย์

    รสของความสัตย์ จับใจ ไม่รู้หาย สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย จึงได้ตรัสสรรเสริญไว้ว่า คนจะได้ชื่อเสียงก็เพราะความสัตย์ ความสัตย์จึงเป็นรสดีกว่ารสทั้งหลาย ความสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย สัตบุรุษคือคนดีตั้งมั่นแล้วในความสัตย์ เป็นประโยชน์ด้วย เป็นธรรมด้วยดังนี้ ในตำนานทางพระศาสนาก็ดี ทางพระราชพงศาวดารก็ดี ก็จะเห็นได้ว่าท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่จับใจในยุทธวิธีหรือความดีอื่นๆยั่งยืนมาได้จนทุกวันนี้ สำเร็จด้วยความสัตย์ทั้งสิ้น

    คนที่มีความรู้ความสามารถจะทำกิจการให้สำเร็จ ต้องยึดถือธรรมเป็นหลักแห่งใจ ทำความเห็นความประพฤติของตนให้ถูกต้องตามคลองธรรม จึงอาจทำความรู้ความสามารถให้เป็นคุณประโยชน์แก่ตน สมดังพุทธนิพนธ์ตรัสไว้ว่า ผู้ใดจะชนะหมู่มนุษย์ในสงครามได้ตั้งล้านก็พอทำเนาต้องชนะตนด้วยอีกผู้หนึ่ง ผู้นั้นจึงจะชื่อว่าเป็นยอดทหารผู้ชนะในสงครามนั้น ดังนี้

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›