๑๗/๑๙ ศาสโนวาท กัณฑ์ที่ ๒ : การรักษาใจกับการข่มใจ

พระเทพสิงหบุราจารย์

    วันนี้จะบรรยายธรรม อันเป็นอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นหลักแห่งพระศาสนาที่นับถือของตน คนเราจะต้องมีพระศาสนาเป็นเครื่องจูงใจ จึงจะทำความรู้และความประพฤติของตนให้ประกอบด้วยประโยชน์ การนับถือพระศาสนาต้องเคารพนับถือพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของ ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ นับถือพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ปกครองรักษา เช่นเดียวกับอาณาจักรอย่างพวกทหารเคารพนับถือองค์พระมหากษัตริย์ และประพฤติตามวินัยที่ทรงบัญญัติสำหรับหมู่คณะของตน ไม่ฝ่าฝืน นับถือนายที่เป็นผู้ใหญ่เหนือตน ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงวางพระทัย แต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชา ฉะนั้นปฏิบัติพระศาสนาให้ถูกทางแล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลทุกจำพวก แม้พวกข้าราชการทหารก็ต้องยึดธรรมเป็นหลัก จึงจะนับว่าเป็นทหารที่ดี

ธรรมที่ทหารควรยึดถือเป็นหลักนั้น จะยกขึ้นกล่าวในที่นี้ ๒ ประการคือ
๑. ความรักษาใจ
๒. ความข่มใจ

    ธรรม ๒ ประการนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะใจเป็นเครื่องกระทบอยู่รอบข้าง ถ้าไม่มีธรรมกำกับอยู่ด้วย มักจะเพลิดเพลินไปในอารมณ์ที่ล่อให้มัวเมา และสะดุ้งหวาดหวั่นด้วยอำนาจอารมณ์ที่ขู่ให้ตกใจ เมื่อใจแชเชือนไปเช่นนั้น การพูดการทำก็ย่อมเชือนไปตามกันเมื่อความประพฤติเสีย แม้จะมีวิทยาความรู้สักเพียงไรก็ไม่เป็นประโยชน์ กลับจะใช้ความรู้ในทางที่ผิด เป็นดังนี้ก็ด้วยอำนาจความคิดอันวิปริต สมดังสุภาษิตโบราณท่านกล่าวไว้ว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ข้อนี้ต้องจำใส่ใจไว้

    ความคิดย่อมแก่กล้าขึ้นตามตัว เมื่อยังเป็นเด็กๆความคิดก็ยังอ่อน เวลานั้นอยู่ในปกครองของบิดามารดาและครูบาอาจารย์ คอยฝึกหัดแนะนำ หล่อหลอม กดขี่ ในความประพฤติและการเล่าเรียนโดยปลอบและปราบ เมื่อเจริญวัยขึ้น ความคิดก็แก่กล้าขึ้นทุกที จะต้องรู้จักปกครองใจของตน กล่าวคือ ยึดธรรมเป็นหลัก อารมณ์ที่ล่อใจให้เชือนแชมีอยู่หลายอย่าง

    การเป็นนักเลงเจ้าชู้นั้นก็เป็นเครื่องชักจูงใจให้เสียหาย เวลายังเล่าเรียนศึกษาอยู่ก็ดี เรียนสำเร็จออกไปเป็นนายทหารแล้วก็ดี ถ้ามัวเพลิดเพลินในทางนั้น ใจก็จะเหินห่างในการศึกษาและกิจการที่เป็นหน้าที่ของตน เป็นดังนี้ความรู้ก็จะไม่เจริญ ที่เรียนมาแล้วก็จะเสื่อมทรามไป ปล่อยปละละกิจการที่เป็นหน้าที่ของตน มีแต่ความเสื่อมหาความเจริญมิได้

    ความเป็นนักเลงสุรา เป็นบ่อเกิดแห่งความเสียหายอย่างสำคัญ เพราะสุราย่อมกลับใจให้เป็นอย่างอื่น ไม่รู้จักความเสียหายอันจะมาถึงแก่ตน ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบธรรม อาจให้ประพฤติความชั่วได้ต่างๆนานา

    ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน นี้ก็เป็นความเสียหายเหมือนกัน เมื่อเล่นเสียก็คิดแก้ตัว เมื่อเล่นได้ก็ยั่วใจอยากได้มากขึ้นไป ครั้นเล่นไปมีแต่จะทำให้ตนเสียหายในทางนั้น การคบเพื่อนที่เป็นนักเลงเช่นนั้น ก็เป็นทางแห่งความเสียหายเหมือนกัน เพราะเป็นเหตุที่จะชักตนให้เป็นคนเช่นนั้น

    ตามที่ได้กล่าวมานั้น พอให้เป็นตัวอย่างในอารมณ์ที่เป็นเครื่องล่อใจให้เพลิดเพลินทำให้เสียหายเมื่อความคิดจะเชือนแชไปทางนั้น ควรรักษาใจให้คงที่ ด้วยนึกถึงคุณความดีที่ตนจะถึงได้พึงถึง ข่มใจด้วยนึกถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น เมื่อถูกอารมณ์ขู่ทำใจให้หวาดหวั่น ท้อถอยต่อภยันตราย ควรยึดหน่วงวัตถุเป็นสรณะของตน ทำใจให้กล้าหาญ ปราบปรามความหวาดหวั่นนั้นเสีย ตัวอย่าง ดังพวกทหารมีธงชัยประจำกองเป็นเครื่องหมายต่างองค์พระมหากษัตริย์ของตน หน่วงเหนี่ยวธงชัยประจำกองเป็นเครื่องหมายต่างองค์พระมหากษัตริย์ของตน หน่วงเหนี่ยวธงชัยเป็นที่พำนักอุดหนุนใจให้กล้าหาญไม่ย่อท้อต่อสรรพศัตรู เรื่องนี้มีตัวอย่างทางตำนานท่านเล่าไว้ว่า เมื่อเกิดสงครามเทวดากับอสูร ท้าวสักกเทวราชมีเทวโองการตรัสสั่งแก่เทวดาทั้งหลายว่า เมื่อเข้าสงคราม ถ้าเกิดความกลัวความสะดุ้งหรือความหวาดเสียว พึงแลดูยอดธงของเราความกลัวความสะดุ้งความหวาดเสียวจะหายไป นี่แสดงว่ายอดธงเป็นเครื่องชักจูงให้ได้รับความอุ่นใจ ป้องกันความหวาดหวั่นได้เพราะอาศัยความเคราพนับถือ แม้ถึงพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายก็ตรัสสั่งพวกสาวกผู้บำเพ็ญสมณธรรม เพื่อปราบปรามข้าศึกภายในให้นึกถึงพระองค์เป็นหลัก อาจป้องกันความหวาดหวั่นต่อข้าศึกได้ ที่กล่าวมานี้เป็นกิริยารักษาน้ำใจ โดยยึดถือวัตถุที่ตนเคราพนับถือเป็นหลัก เมื่อใจกำเริบด้วยอำนาจความโกรธความแค้น อันเป็นหนทางจะทำให้ตนและหมู่คณะเสียหาย ต้องนึกถึงธรรมแล้วข่มใจให้สงบระงับ คุณข้อนี้เป็นเหตุแห่งความเจริญ ท่านที่มีปรีชา ประพฤติได้รับผลดี เป็นตัวอย่างมาดังตำนานเล่าไว้ว่า

    พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพรหมทัต ดำรงราชสมบัติในพระนครพาราณสี บริบูรณ์ด้วยพระราชทรัพย์ อาวุธยุทธภัณฑ์ บำรุงทแกล้วทหารมีราชพาหนะครบทุกสิ่ง ทั้งรัฐมณฑลอาณาเขตก็ไพศาล ยังมีพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าทีฆีติดำรงราชสมบัติในโกศลรัฐ พระองค์มีพระราชทรัพย์ อาวุธยุทธภัณฑ์ และทแกล้วทหาร ราชอาณาจักรน้อยเบาบางพระเจ้าพรหมทัตยกทัพมาติดพระนครโกศลรัฐ พระเจ้าทีฆีติทรงเห็นว่ากำลังน้อยไม่อาจต่อสู้ข้าศึกได้ จึงพามเหสีเสด็จหนีออกจากพระนคร พระเจ้าพรหมทัตได้ชัยชนะโดยสวัสดี

    พระเจ้าทีฆีติกับพระมเหสีทรงแปลงพระองค์แอบแฝงอยู่ใกล้พระนครพาราณสี พระมเหสีประสูติพระกุมารขนานนามว่าทีฆาวุ เมื่อทีฆาวุกุมารทรงพระเจริญวัย พระบิดาเกรงว่าจะเกิดภัย จึงทรงส่งให้ไปศึกษาศิลปศาสตร์อยู่ภายนอกพระนคร ภายหลังพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบเหตุที่พระเจ้าทีฆีติแปลงพระองค์แอบแฝงอยู่ที่นั้น จึงตรัสให้จับปลงพระชนม์ชีพเสีย

    ส่วนทีฆาวุกุมารได้ศึกษาศิลปศาสตร์ชำนิชำนาญ คิดอ่านที่จะแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัต หาช่องโอกาสฝากเนื้อฝากตัวมาโดยลำดับ จนได้เป็นราชเสวกใกล้ชิดกับพระเจ้าพรหมทัต วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสป่า รับสั่งให้ทีฆาวุกุมารจัดรถพระที่นั่ง เสร็จแล้วท้าวเธอเสด็จขึ้นทรงรถ ทีฆาวุกุมารเป็นราชสารถี ขับพาชีตัดลัดทางด้วยอุบายตน จนข้าราชการตามเสด็จไม่ทัน พลัดกันไปคนละทาง เหลืออยู่แต่รถทรง ทรงรับสั่งให้หยุดรถเพื่อระงับพระกาย ทีฆาวุกุมารหยุดรถแล้วลงนั่งขัดสมาธิ ณ แผ่นดินนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงพาดพระเศียรบนตักทีฆาวุกุมารเอนพระองค์ลงบรรทมหลับสนิท

    ครั้งนี้ทีฆาวุกุมารคิดว่าพระเจ้าพรหมทัตนี้ชิงราชสมบัติแว่นแคว้นแดนดินของเรา และยังฆ่าพระชนกพระชนนีของเราเสียด้วย คราวนี้เป็นเวลาของเราที่จะแก้แค้น จึงถอดพระแสงออกจากฝักหวังจะปลงพระชนม์พระเจ้าพรหมทัต แล้วมานึกถึงโอวาทที่พระชนกสอนไว้ว่า
น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น อย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว และธรรมดาเวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยไม่มีเวรแก่กัน

    คิดดังนี้แล้ว ข่มใจที่โกรธนั้นเสีย โดยเห็นว่าไม่ควรจะล่วงคำสอนของพระชนก กลับสอดพระแสงเข้าฝักแต่นึกแค้นและข่มใจได้อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง จนพระเจ้าพรหมทัตตกพระทัยผวาตื่นขึ้น เธอจับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตด้วยมือซ้าย ถอดพระแสงด้วยมือขวา กล่าวคุกคามว่า

    เรานี่แหละชื่อทีฆาวุ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าทีฆีติ ท่านทำความฉิบหายแก่เรามากนัก ชิงเอาพลพาหนะแว่นแคว้นแดนดินหมดแล้ว มิหนำซ้ำยังฆ่าพระชนกพระชนนีของเราเสียอีก คราวนี้เป็นเวลาของเราจะแก้แค้น

    พระเจ้าพรหมทัตตกพระทัยรับสั่งขอชีวิต เธอก็กราบทูลถวายและขอพระราชทานชีวิตของตน กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่างองค์ต่างถวายชีวิตกันและกัน ทรงจับพระหัตถ์ทำสัจจะสาบานเพื่อไม่ประทุษร้ายต่อกัน ตั้งแต่นั้นสองกษัตริย์ก็สามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตก็ได้พระราชทานพลโยธาพาหนะแว่นแคว้นแดนดินอันเป็นของพระเจ้าทีฆีติคืนให้แก่ทีหาวุกุมาร และพระราชทานพระราชธิดาด้วย ทีฆาวุกุมารก็ได้ดำรงราชสมบัติครองโกศลรัฐราชธานีสืบสันติวงศ์เรียบร้อยตลอดมา นี่ก็เป็นด้วยปรีชาและความรอบคอบของทีฆาวุกุมาร

    พระโอวาทของพระเจ้าทีฆีตินั้น ข้อที่ว่า “อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น” อธิบายว่า อย่าผูกเวรกันให้นาน คือเมื่อมีหนทางจะสมานกันให้เรียบร้อยได้ ก็ควรข่มใจประนีประนอมให้สงบระงับ อย่าถือทิฐิมานะ

    ข้อที่ว่า “อย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว” อธิบายว่า มิตรที่คบกันแล้วอย่าทำใจเร็ว ด่วนได้ แตกร้าวจืดจางกันเร็ว เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ควรข่มใจ อย่าเห็นแก่ได้เปรียบเสียเปรียบ

    ข้อที่ว่า “เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยไม่มีเวร” อธิบายว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งได้ทำผิดแก่ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายนั้นคิดแก้แค้นจนสำเร็จ ฝ่ายโน้นก็คิดแก้แค้นต่อไป เป็นดังนี้ เวรไม่มีเวลาสงบลงได้เลย ตัวอย่างก็ดังทีฆาวุกุมาร ถ้าเธอจะคิดผูกใจเจ็บในพระเจ้าในพระพรหมทัตจะปลงชีวิตเธอเสียก็ได้แต่พระองค์เดียว ฝ่ายของพระเจ้าพรหมทัตก็จะคิดแก้แค้น จับทีหาวุกุมารปลงพระชนม์ชีวิตเสียอีก ความบาดหมางในระหว่างสองแคว้นนั้นจะไม่มีเวลาสงบระงับ เมื่อทีฆาวุกุมารข่มใจ ถวายชีวิตแก่พระเจ้าพรหมทัตในเวลาที่ตนอาจทำได้ พระเจ้าพรหมทัตก็พระราชทานชีวิตแก่ทีฆาวุกุมาร ไม่ทรงถือด้วยอำนาจทิฐิ สองแว่นแคว้นก็ได้มีความสนิมสนมกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นับว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวรกัน

    ตามที่กล่าวมานี้ พวกทหารก็ควรใส่ใจ พระเจ้าทีฆีติเสียพระนครและชีวิตแก่ข้าศึกก็เพราะเลินเล่อไม่บำรุงทแกล้วทหาร เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ เป็นเครื่องป้องกันพระนคร เป็นโอกาสให้ข้าศึกได้ทีตีเอาพระนครได้โดยง่าย ส่วยทีฆาวุกุมารผู้เป็นโอรสมีปรีชาสามารถในเหตุผลสมควรเชื้อชาติกษัตริย์ ใจทหารบากบั่นทำการสำเร็จได้โดยละม่อม เวลาที่อาจปลงชีวิตพระเจ้าพรหมทัตได้ ก็ยังข่มใจไว้ได้ เพราะยึดธรรมเป็นหลัก นับว่าประพฤติต้องตามลักษณะของทหารที่ดี เวลาที่เขาหมดอำนาจไม่ต่อสู้ก็ไม่ทำ การข่มใจเช่นนี้เป็นวิธีที่ทหารต้องยึดไว้เป็นหลัก

    เพราะฉะนั้น ขอพวกทหารจงใส่ใจในธรรม คือ ถือธรรมเป็นหลัก จงมีสติรักษาใจ จูงใจให้ตั้งอยู่ในความดี จงข่มใจปราบปรามใจ อย่าให้ฉุนเฉียวฟุ้งซ่านเพราะเครื่องกระทบ ประพฤติได้ดังนี้นับว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม ยึดถือธรรมเป็นหลัก ได้รับประโยชน์แห่งการนับถือพระพุทธศาสนา มีความดังพรรณนามานี้

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›