๑๗/๑๗ พระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ)ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๒)

นายชัยวัมน์ เกตุปรีชาสวัสดิ์

    ข้าพเจ้าเคยเขียนบทความถึงหลวงพ่อ เมื่อครั้งหลวงพ่อยังอยู่ในสมณศักดิ์พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) และได้ลงพิมพ์ในหนังสือกฏแห่งกรรม – ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๑๕ ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๔ เจริญอายุครบ ๗๓ ปี

    ความเดิมมีว่า ข้าพเจ้าเกิดที่ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๘ เวลา ๑๗.๔๕ นาฬิกา เรียนหนังสือจบที่โรงเรียนไม้ดัด อำเภอบางระจัน ชั้นประถมปีที่ ๒ แล้วหยุดเรียน ต่อมาได้สมทบกับโรงเรียนเทศบาลเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี(โรงเรียนวัดโพธิ์แก้วนพคุณ) สอบชั้นประถมปีที่ ๔ ได้ หลังจากนั้นข้าพเจ้าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้สมัครสอบ ม.๑ ถึง ม.๘ สอบไล่ได้ ม.๓, ม.๖ และม.๘ แผนกวิทยาศาสตร์ ใช้เวลา ๓ ปี เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙ – พ.ศ. ๒๕๐๒ รวม ๔ ปี สำเร็จวิชานิติศาสตร์บัณฑิตและวิชาสังคมสงเคาระห์ศาสตร์บัณฑิต ต่อมาอีกหนึ่งปี ข้าพเจ้าสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตได้ พอดีกับกรมอัยการเปิดรับสมัครอัยการ ข้าพเจ้าสามารถสอบเข้าเป็นอัยการได้ในปีเดียวกันนั้น ข้าพเจ้ารับราชการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด เกษียณอายุ พ.ศ.๒๕๓๙ และในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ นั่นเอง ข้าพเจ้าได้บรรจุเข้าทำงานในเนติบัณฑิตสภา ข้าพเจ้าได้รู้จักกับหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ก่อนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ดังกล่าวแล้ว

    เนื่องด้วยมีบุคคลสอบถามข้าพเจ้าถึงความเจ็บป่วยและสมองกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ข้าพเจ้าจึงขอเล่าในหนังสือเล่มนี้ตามลำดับเรื่องที่เกิดขึ้นดังนี้

    วันนั้นเป็นที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. ข้าพเจ้าขับรถยนต์ จากเนติบัณฑิตยสภาตั้งใจที่จะไปงานมงคลสมรสของลูกเพื่อนที่โรงแรมดุสิตธานี ระหว่างทางข้าพเจ้ารู้สึกว่าขับรถไปไม่ตรงทาง จึงเปลี่ยนใจไม่ไปงานและพยายามที่จะขับรถกลับบ้าน เมื่อถึงสี่แยกมักกะสันก็มีคนขับรถคันหนึ่งพยายามบังคับให้ข้าพเจ้าจอดรถข้างทาง เมื่อข้าพเจ้าจอดรถข้างทางชายคนนั้นบอกว่าข้พเจ้าขับรถชนรถของเขา ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่าไม่ได้ขับรถชนของเขาแต่อย่างใด ชายคนนั้นได้หันไปบอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินมาอยู่ข้างรถของข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าไม่สบายให้โทรศัพท์บอกทางบ้านด่วน ส่วนที่ข้าพเจ้าขับรถชน เขาไม่เอาเรื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ใช้โทรศัพท์ของข้าพเจ้าแจ้งไปยังภรรยาของข้าพเจ้า ไม่นานนักภรรยาของข้าพเจ้าซึ่งเป็นแพทย์ระดับ ๑๐ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ได้มาถึง และได้พ้าข้าพเจ้าไปที่โรงพยาบาลพญาไท ๑ เมื่อประมาณ ๒ ทุ่ม แพทยืรีบนำตัวข้าพเจ้าเข้าห้อง ไอซียู ข้าพเจ้าค่อยๆหมดความรู้สึกไป ผลการตรวจแพทย์พบเส้นโลหิตฝอยแตกในสมอง ข้าพเจ้าเคยสั่งภรรยาของข้าพเจ้าเอาไว้ว่า ถ้าเป็นอะไรก็ตามห้ามผ่าตัดเป็นอันขาดแม้จะถึงแก่ความตายก็ยอม เดชะบุญภรรยาข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ถึงหลวงพ่อจรัญ (ขณะนั้นอยู่ในสมณศักดิ์พระราชสุทธิญาณมงคล) เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลวงพ่อจรัญได้กรุณานั่งเพ่งพลังจิตมาช่วยจนถึงวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าเลือดที่ออกในสมองก็หยุดไหล

    ข้าพเจ้าได้รักษาตัวในโรงพยาบาลพญาไท ๑ ประมาณ ๑๐ วัน ได้ขอย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าอีกประมาณ ๑๐ วัน จึงได้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านและก็มาทำงานที่เนติบัณฑิตสภาต่อไป และในการรักษาพยาบาล ข้าพเจ้าได้ใช้วิธีการช่วยเหลือตนเองดังนี้

    ๑. หลวงพ่อจรัญได้เคยสั่งให้สวดพาหุงมหากา ข้าพเจ้าได้สวดตอนเช้ามืดแล้วเดินจงกรมต่อด้วยนั่งสมาธิ การเดินจงกรมทำให้เกิดการชั่งน้ำหนักระหว่างขาขวาและขาซ้าย เมื่อจะนั่งสมาธิจะไม่เกาะสิ่งใดเป็นอันขาด ค่อยๆปล่อยแขนลงพร้อมกับย่อตัวลงนั่งแล้วจึงจับขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางทับมือซ้ายและวางอยู่บนตัก หลับตาภาวนาว่า พองหนอ เมื่อหายใจเข้า และยุบหนอในเวลาหายใจออก การทำเช่นนี้ มือขวาซึ่งเกร็ง เพราะโรคภันไข้เจ็บจะค่อยๆหายเกร็งไป การสวดมนต์ เดินจงกรมและนั่งสมาธิ ในตอนเช้าจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงก็ต้องหยุด เพราะต้องรีบอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานเมื่อเวลา ๐๗.๐๐ น.

    ๒. ข้าพเจ้าได้ใช้การเดินออกกำลังกาย โดยเดินออกจากบ้านซึ่งอยู่ที่เขตดินแดง ไปถึงสวนลุมพินีเป็นระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แล้วเดินรอบสวนลุมพินีเพียงรอบเดียว แล้วเดินทางกลับที่พักรวมเป็นระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เดินได้ประมาณ ๑๐ ครั้ง ก็ต้องหยุดเพราะภรรยาห้ามเดินเกรงจะเกิดอันตราย

    ๓. ภรรยาข้าพเจ้าขับรถไปส่งข้าพเจ้าที่เนติบัณฑิตยสภา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๔๗ นาที ในระหว่างเดินทางจะให้ข้าพเจ้าสวดอิติปิโสภควา พร้อมกับยกมือขวาขึ้นและวางลงที่เหนือเข่าในจังหวะของการสวดมนต์ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการสวดมนต์ การกระทำดังนี้ ทำให้มือขวาซึ่งป่วยด้วยโรคภัยมีอาการดีขึ้น

    ๔. ข้าพเจ้าได้ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิ ที่วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นเวลา ๓-๕ วัน และมีอยู่ครั้งหนึ่งฝนตกทางลื่น ปรากฏว่าข้าพเจ้าได้ลื่นลงบันได สะโพกขวากระแทกกับขั้นบันไดอย่างแรง ผิวสะโพกกลายเป็นสีเขียวและดำ ข้าพเจ้ากลับคิดว่าการเจ็บสะโพกขวา ก้เพื่อรักษาโรคที่เกิดในทิศทางเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงปล่อยให้รอยช้ำค่อยๆหายไปเอง และแล้วการเดินของข้าพเจ้าก็กลับดีขึ้นกว่าเดิมก่อนที่จะล้มจนได้รับบาดเจ็บเสียอีก

    ข้าพเจ้าใช้วิธีการรักษา ๔ วิธี ดังกล่าวนี้ ทำให้การทรงตัวดีขึ้น สมองก็ใช้ได้เหมือนเดิมเช่นการเสนอให้สร้างพระบรมรูปฯ รัชการที่ ๖ สองเท่าครึ่งพระองค์จริง ประดิษฐานไว้หน้าอาคารเนติบัณฑิตสภา ข้าพเจ้าได้เสนอให้เนติบัณฑิตสภาดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ยังเสนอให้เนติบัณฑิตสภาสร้างพระบรมรูปฯ รัชการที่ ๖ ขนาดสูง ๙ นิ้ว กับขนาดสูง ๑๙ นิ้ว เสร็จเรียบร้อย สามชิกเนติบัณฑิตสภาผู้จงรักภักดีต่างได้เช่าบูชากันจนหมดทั้งสองขนาด นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้เสนอว่าควรสร้างห้องสมุดใช้ชื่อว่า “ห้องสมุดเนฑิตยสภาเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนพรรษา” พร้อมทั้งประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่หน้าห้องสมุดด้วย ซึ่งเนติบัณฑิตยสภาได้เห็นชอบตามที่ข้าพเจ้าเสนอ ข้าพเจ้าได้หารูปแบบและสถานที่ห้องสมุดที่เหมาะสม ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

    โดยที่อาคารเนติบัณฑิตสภาได้มีการก่อสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ที่หน้าอาคารเนื่องจากพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงก่อตั้งเนติบัณฑิตยสภาขึ้น แต่ด้วยเหตุที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งกฏหมายไทย ไม่มีรูปหล่อด้วยโลหะ ที่ชั้น ๔ ของอาคารเนติบัณฑฺตยสภามีแต่พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าจึงคิดว่าน่าจะสร้างพระรูปจำลองของพระองค์ไว้ด้วย จึงได้หารือกับท่านจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฏหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภาว่าสมควรที่จะจัดสร้างพระรูปของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เนื้อโลหะ เพื่อนำประดิษฐานไว้ ณ ห้องบรรยายกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น ๔ ขนาดเท่าพระองค์จริง แทนพระบรมสาทิสลักษณ์เดิม ซึ่งท่านเลขาธิการสำนักอบรมฯก็เห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าจึงดำเนินการศึกษาถึงว่า ควรจัดสร้างในพระอิริยาบถใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ควรจะอิงพระรูปที่ประดิษฐานอยู่ ณ สนามหน้าอาคารศาลยุติธรรม แต่พระรูปที่หน้าอาคารศาลยุติธรรม ทรงอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งพระหัตถ์ซ้ายถือหนังสือ แต่เพื่อความสง่างาม ควรเปลี่ยนแปลงเพราะจะนำมาประดิษฐาน ณ หน้าห้องบรรยาย ชั้น ๔ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเปลี่ยนจากพระอิริยาบถประทับนั่ง มาเป็นพระอิริยาบถประทับยืน ความสูงขนาด ๑ เท่าของพระองค์จริงจะเหมาะสมกว่า จึงได้ออกแบบจัดสร้างในพระอิริยาบถแบบประทับยืนทรงครุย พระหัตถ์ซ้ายถือหนังสือ ค่าจัดสร้างตามที่ข้าพเจ้าตกลงไว้กับผู้รับจัดสร้าง ราคาองค์ละ ๑๗๐,๐๐๐ บาท โดยใช้เงินของกองทุนเฉลิมพระเกียรติจัดสร้าง ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา ก็ได้อนุมัติในหลักการให้จัดสร้างได้ตามรูปแบบที่เสนอในวงเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท

    ขอย้อนกล่าว กรณีที่ข้าพเจ้าขับรถยนต์เก๋งไปจนเกิดเหตุ ผลที่สุดข้าพเจ้าต้องไปนอนที่โรงพยาบาลนั้น ตอนเช้าของวันเกิดเหตุ ข้าพเจ้าพกพระเครื่องรวมประมาณ ๕๐ องค์ ไปยังที่ทำงาน ซึ่งเป็นครั้งเดียวในชีวิตนี้ที่พกพระเครื่องมากถึงเพียงนั้น เมื่อกลับบ้านจึงบรรจุไว้ในกระเป๋าถือ ใส่ไว้ส่วนท้ายของรถ เมื่อเกิดเหตุแล้วปรากฏว่าพระไม่ได้สูญหายไปแต่อย่างใด แม้สร้อยคอพร้อมพระเครื่องก็ยังอยู่ครบเช่นเดียวกัน นอกนั้นทรัพย์สินอื่นๆในรถก็อยู่ครบมิได้สูญหาย ยกเว้นหน้ารถยนต์เก่งที่ข้าพเจ้าได้ชนเสาไฟฟ้ายุบเสียหายต้องซ่อม ๔ หมื่นบาทเศษ ถ้าข้พเจ้ามิได้กล่าวเรื่องเหล่านี้ไว้ เกรงจะไม่ครบถ้วน

    เมื่อพูดถึงเรื่องพระเครื่องของพูดถึงพระเครื่องที่ระลึกพระเขี้ยวแก้ว พระพุทธเจ้า พิธีวิสาขะบูชาพระครูภาวณาวิสุทธิ์ ณ ประเทศลังกา วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๕ เป็นขนาดกว้าง ๓.๙ ซม. สูงประมาณ ๖.๔ ซ.ม. ราคาที่เช่าหากันในท้องที่ประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ องค์ เป็นพระที่หลวงพ่อจรัญท่านสร้างขึ้นเองประมาณ ๑๐๘ องค์ ข้พเจ้าได้มีโอกาสได้พบที่วัดอัมพวัน ๑ องค์ เจ้าของคิดค่าเช่าบูชาองค์ละ ๗๕๐ บาท ตอนนั้นก่อนที่พระมีราคาเช่าองค์ละ ๕,๐๐๐ บาทข้าพเจ้าไม่สนใจเห็นว่าเป็นพระเครื่องใหญ่โตไม่เหมาะที่จะคล้องคอ ต่อมาภายหลังได้ทราบถึงประวัติและการหายากของพระดังกล่าว จึงนึกเสียดายและอยากได้ไว้เคารพบูชา ตอนบ่ายของวันหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๖ ขณะที่นอนพักผ่อนที่บ้าน จิตใจเร่าร้อนอยากไปสนามพระ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ ผลที่สุดตัดใจไปเยี่ยมสนาม ปรากกว่ามีพระเขี้ยวแก้วของหลวงพ่อจรัญอยู่ในแผงพระ ๑ องค์ ข้าพเจ้าได้เช่าบูชาราคา ๓๐๐ บาท ดังปรากฏตามภาพ ซึ่งมีหลงเข้ามาเพียงองค์เดียวตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นมาถึงบัดนี้ เป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งพระเครื่องจำนวนน้อยจะหลงเข้ามาในสนามพระกรุงเทพมหานคร และดลบันดาลใจให้ผู้อยากได้มีโอกาสพบเห็นอย่างน่ามหัศจรรย์ และได้เป็นเจ้าของพระในราคาถูกยิ่งอย่างนี้

นายชัยวัฒน์ เกตุปรีชาสวสดิ์ ผู้เขียน
นิติศาสตร์บัณฑิต, สังคมสงเคาระห์ศาสตร์บัณฑิต.
เนติบัณฑิต

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›